นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในไทย เดือน มิ.ย.60 ทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมา เป็นต้น โดยจากข้อมูลนี้มีแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบ ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน 1 ล้านราย โดยเป็นแรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรที่อยู่นอกระบบ 17% หรือจำนวน 170,000 ราย
อย่างไรก็ตาม จากการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 คาดว่าจะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ หรือย้ายกลับถิ่นฐานเดิมของตนเอง สูงสุดถึง 15% หรือคิดเป็นจำนวน 25,500 ราย แต่ทั้งนี้ สศก.ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรนัก เพราะเชื่อว่าจะเกิดขึ้นระยะสั้นเท่านั้น เมื่อแรงงานต่างด้าวได้กลับไปทำเอกสารที่ประเทศตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็น่าจะกลับมายังประเทศไทยเพื่อทำงานตามปกติ เพราะค่าจ้างแรงงานไทยยังสูงกว่าแถบประเทศเพื่อนบ้านอยู่ อาทิ กัมพูชาได้ค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ขณะที่ไทยแรงงานขั้นต่ำได้ 300 บาทต่อวัน เป็นต้น
นอกจากนี้ สศก.เชื่อว่า ในระยะยาวการมีแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องจะทดแทนแรงงานในประเทศที่ลดลงเรื่อยๆ ตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งจะเป็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกต้อง ซึ่งในปีหน้า เชื่อว่ารัฐบาล สหรัฐอเมริกา น่าจะเห็นความพยายามของรัฐบาลไทยปรับอันดับรายงานการค้ามนุษย์ (ทิป รีพอร์ต) จากเทียร์ 2 วอตช์ลิสต์ (เฝ้าระวัง) มาอยู่ที่เทียร์ 2 ได้
ทั้งนี้ สศก.มีข้อเสนอแนะฝากไปยังรัฐบาล ประกอบด้วย ระยะสั้น คือ ปรับบทลงโทษ หรือขยายระยะเวลาการนำ พ.ร.ก. มาใช้เนื่องจากบทลงโทษที่เกิดจาก พ.ร.ก.รุนแรง ส่งผลกระทบผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการที่ทำการเกษตร,รัฐควรร่วมอำนวยความสะดวกขึ้นทะเบียน ลดความซับซ้อน ส่วนในระยะยาว จะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยรัฐควรจัดงบประมาณบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในอนาคต.