"แคท" จ่อขาดทุน 5 พันล้าน โยนบาป "ดีอี" เตะถ่วงแผนสร้างรายได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"แคท" จ่อขาดทุน 5 พันล้าน โยนบาป "ดีอี" เตะถ่วงแผนสร้างรายได้

Date Time: 21 ก.ค. 2560 05:30 น.

Summary

  • “แคท” จุกอก ปี 60 ส่อแววขาดทุนปีแรกเฉียด 5,000 ล้านบาท จากเดิมคาดหวังกำไร 800 ล้านบาท เหตุ “ดีอี” เตะถ่วงไม่พิจารณาแผนสร้างรายได้ให้องค์กร แถมเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด “คลัง” เรียกจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าปรับอีก 2,400 ล้านบาท...

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

“แคท” จุกอก ปี 60 ส่อแววขาดทุนปีแรกเฉียด 5,000 ล้านบาท จากเดิมคาดหวังกำไร 800 ล้านบาท เหตุ “ดีอี” เตะถ่วงไม่พิจารณาแผนสร้างรายได้ให้องค์กร แถมเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด “คลัง” เรียกจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าปรับอีก 2,400 ล้านบาท

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เปิดเผยว่า ในปี 60 แคทมีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท จากเดิมคาดว่าจะมีกำไรราว 800-1,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นปีแรกที่แคทประสบปัญหาการขาดทุน เนื่องจากโครงการที่จะสร้างรายได้ให้แคทยังไม่ได้รับการพิจารณาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ทั้งที่แคทได้เสนอเรื่องให้พิจารณามาตั้งแต่ปลายปี 59 จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากกระทรวง

สำหรับโครงการที่แคทได้เสนอให้กระทรวงดีอีพิจารณาและนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติตามขั้นตอนนั้น ได้แก่ การนำทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานมือถือกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มาจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนใหม่ เพื่อให้บริการเช่าเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคม เนื่องจากสัญญาสัมปทานดีแทคจะสิ้นสุด 15 ก.ย.61 ดังนั้น เพื่อให้แคทมีรายได้ต่อเนื่องปีละ 10,000-20,000 ล้านบาท จึงได้เสนอแผนการร่วมทุนกับดีแทคให้กระทรวงดีอีพิจารณาตั้งแต่เดือน ต.ค.59 แต่จนถึงขณะนี้กระทรวงก็ยังไม่นำเสนอ ครม.ให้พิจารณาอนุมัติแต่อย่างใด เพราะหากมีการอนุมัติตามที่เสนอแล้ว แคทจะสามารถนำทรัพย์สินบางส่วนออกมาให้เช่า เพื่อสร้างรายได้ก่อนในช่วงนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาการทำธุรกิจมือถือรูปแบบใหม่ เพื่อให้บริการ 3 จี ด้วยเทคโนโลยี เอชเอสพีเอ ที่มีการลงนามระหว่างแคทกับกลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 54 โดยจะขอเปลี่ยนเงื่อนไข จากการซื้อคืนระบบเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นการเช่า เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเกรงว่าเมื่อขบวนการจัดซื้อแล้วเสร็จ อุปกรณ์และระบบโทรคมนาคมนั้นจะไม่ทันสมัย เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งแคท ได้เสนอให้ดีอีพิจารณาตั้งแต่ มี.ค.60 ที่ผ่านมา

ส่วนโครงการขยายโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ เพื่อเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ วงเงิน 5,000 ล้านบาทนั้น แคทได้เสนอให้กระทรวงดีอีพิจารณามาหลายเดือนแล้ว คาดว่าสัปดาห์หน้าจะเข้า ครม. เนื่องจากโครงการนี้จะสนับสนุนนโยบายขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐบาลได้โครงข่ายอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกหมู่บ้านแล้ว ดังนั้นเมื่อมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ก็ต้องขยายช่องทางเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นด้วย “แคทพยายามทุกช่องทางที่จะเพิ่มรายได้ให้องค์กรแล้ว แต่การเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีระเบียบและขั้นตอนปฏิบัติมาก ทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการแข่งขัน ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมมีการแข่งขันดุเดือดมาก เพียงแค่จะนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาสร้างรายได้ยังใช้เวลานาน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติ แล้วจะให้ทำอย่างไร ทุกวันนี้แคทไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ดีอีไม่พิจารณา แต่ก็ต้องพยายามหาลูกค้าจากช่องทางอื่นเพื่อเพิ่มรายได้”

พ.อ.สรรพชัยกล่าวต่อว่า ปี 60 แคทยังมีภาระการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กรมสรรพากร อีก 2,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากเมื่อปี 46 รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กำหนดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคม โดยหักจากค่าสัมปทานมือถือนั้น ต่อมาปี 50 สรรพากรได้ประเมินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่ จากวงเงินการจ่ายค่าภาษีสรรพสามิตทั้งหมด และเรียกเก็บเงินจากแคทเพิ่มแต่แคทไม่ยินยอม จึงได้ยื่นฟ้องร้องศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร ซึ่งศาลตัดสินให้แคทต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับราว 2,400 ล้านบาท และแคทก็ต้องไปฟ้องร้องเรียกจากคู่สัมปทานต่อไป แต่เบื้องต้นแคทต้องชำระภาษีให้กรมสรรพากรไปก่อน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ