สรรพากรสวมบทโหด! ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโทษอาญาคุก 7 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สรรพากรสวมบทโหด! ใช้ใบกำกับภาษีปลอมโทษอาญาคุก 7 ปี

Date Time: 19 ก.ค. 2560 05:30 น.

Summary

  • กรมสรรพากรเล็งใช้กฎหมายเข้มข้นกับผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม เจอโทษอาญาคุก 7 ปี ต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ฉบับ หลังใจดีโลกสวยผ่อนคลายการลงโทษอาญามานานกว่า 20 ปี

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

กรมสรรพากรเล็งใช้กฎหมายเข้มข้นกับผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม เจอโทษอาญาคุก 7 ปี ต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ฉบับ หลังใจดีโลกสวยผ่อนคลายการลงโทษอาญามานานกว่า 20 ปี

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2560 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะเริ่มใช้กฎหมายที่เข้มข้นกับผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ปลอม หลังจากที่กรมสรรพากรได้ผ่อนคลายเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าผู้ประกอบการในสมัยนั้นไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงภาษี เนื่องจากมีการระบาดของใบกำกับภาษีปลอมจำนวนมาก กรมสรรพากรจึงเลือกใช้วิธีว่า เมื่อจับกุมผู้ใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอมได้แล้ว ก็จะขอให้ผู้ซื้อชี้เบาะแสเพื่อสาวให้ถึงตัวการใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเพราะตัวการใหญ่น่าจะหมดไปแล้ว เหลือแต่ตัวการเล็กๆ จึงทำให้กรมสรรพากรมั่นใจว่า ผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอมที่เหลือในปัจจุบัน ถือเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดและมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษี

ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีบทลงโทษทางอาญาสูงสุดคือ จำคุก 7 ปีต่อ 1 กรรม (ใบกำกับภาษีปลอม 1 ฉบับ) แต่รวมแล้วไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นบทลงโทษที่ไม่เคยนำมาใช้ลงโทษมาก่อน แต่ใช้เพียงแค่การลงโทษสถานเบาคือ 1.ให้เสียภาษีอากรให้ครบ 2.เสียค่าปรับ และ 3.จ่ายค่าดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ไม่ได้ชำระภาษี เพื่อติดตามรายได้ที่ขาดหายไปกลับคืนมาให้ครบ ส่วนปัจจุบันที่จะต้องดำเนินคดีทางอาญาควบคู่ไปด้วยนั้น เพราะยังมีผู้ประกอบการอาศัยช่องโหว่นี้ใช้ใบกำกับภาษีปลอม เพื่อนำมาเป็นรายจ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้น และนำมาหักรายได้เพื่อให้มีกำไรที่จะต้องมาจ่ายภาษีลดลง

“โทษอาญาที่จะเริ่มดำเนินการในเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นโทษที่หนักมาก เพราะการใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอมเพียง 1 ใบ ก็มีโทษจำคุกถึง 7 ปี ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้กฎหมายที่รุนแรง และล่าสุดก็มีนักฟุตบอลอาชีพชื่อดังที่เสียภาษีไม่ครบและต้องติดคุกก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว”

นายประสงค์กล่าวต่อว่า การใช้ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม เพราะต้องการลดรายได้ของบริษัทด้วยการเพิ่มรายจ่าย เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล เช่น ปีที่แล้วเสียภาษีให้แก่กรมสรรพากรจำนวนเงิน 1 ล้านบาท ปีนี้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท เพราะกำไรดี แต่ไม่อยากเสีย จึงไปซื้อใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มปลอม เพื่อสร้างรายจ่ายเท็จทำให้กำไรของบริษัทลดลง เป็นต้น ส่วนผู้ที่ขายใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีโทษทั้งทางแพ่งและอาญาอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต โดยจะให้สถาบันการเงินเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย เช่น เงินเดือน ค่าจ้างและอื่นๆ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ด้วย โดยผู้จ่ายภาษีจะต้องบวกภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปพร้อมกับจำนวนเงินที่โอน ขณะที่ธนาคารสถาบันการเงินจะเป็นผู้โอนภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากร โดยในเบื้องต้นจะมีช่องว่างให้บันทึกว่า เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกและง่ายแก่การตรวจสอบ

“ในอนาคตกรมสรรพากรจะต้องพัฒนาไปสู่โลกเทคโนโลยีมากขึ้น โดยต้องแบ่งแยกระหว่างระบบอี เพย์เม้นท์ (e-Payment) จะเป็นเรื่องการซื้อขาย การโอนเงินและการชำระเงินภายในประเทศ ขณะที่ e-Business จะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งคาดว่า มีผู้ประกอบการซื้อขายสินค้าออนไลน์ประมาณ 800,000 รายทั่วประเทศ”

นายประสงค์กล่าวว่า ในอนาคตผู้ประกอบการจะไม่สามารถหลบหนีเทคโนโลยีไปได้ เพราะล่าสุด โครงการติดตั้งเครื่องชำระเงินอัตโนมัติ หรืออีดีซี จำนวน 700,000 เครื่องทั่วประเทศนั้น มีผู้ประกอบการรายย่อยเพียง 15% ที่ยอมตั้งเครื่องอีดีซี ส่วนที่เหลือ 85% หรือประมาณ 595,000 เครื่อง ที่ไม่ยอมติดตั้งเครื่องอีดีซี เพราะกลัวเสียภาษีให้แก่รัฐบาลนั้น แน่นอนว่ากรมสรรพากรจะเชิญผู้ประกอบการที่ไม่ติดเครื่องอีดีซีมาพบและจะจับตามองเป็นกรณีพิเศษ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ