คนกรุงตั้งตารอ 'มวลมหารถไฟฟ้า' คืบหน้า เสร็จสิ้น ใช้ได้เมื่อไร

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนกรุงตั้งตารอ 'มวลมหารถไฟฟ้า' คืบหน้า เสร็จสิ้น ใช้ได้เมื่อไร

Date Time: 13 ก.ค. 2560 05:35 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • ความหวังของคนกรุง เริ่มเข้าใกล้ความจริงแล้ว หลังโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างชานเมือง เข้ามาสู่กรุงเทพชั้นใน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลายโครงการลงมือก่อสร้างแล้ว

Latest


ความหวังของคนกรุง เริ่มเข้าใกล้ความจริงแล้ว หลังโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมระหว่างชานเมือง เข้ามาสู่กรุงเทพฯชั้นใน เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลายโครงการลงมือก่อสร้างแล้ว และอีกหลายโครงการก็จะได้ใช้บริการเร็วๆ นี้

'ไทยรัฐออนไลน์' เก็บข้อมูลการก่อสร้างรถไฟฟ้า มาอัพเดตให้กับผู้อ่านได้ทราบกัน จะได้คำนวณคร่าวๆ ได้ว่า รถไฟฟ้าจะวิ่งผ่านหน้าบ้านเราได้เมื่อไร เริ่มกันที่....

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

วิธีการจำที่ง่ายที่สุด รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนี้จะเชื่อมจุดต้นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT ที่สถานีต้นทางและปลายทาง คือ บางซื่อ และหัวลำโพง นั้นเอง  

ช่วงบางซื่อ – ท่าพระ คืบหน้าแล้ว 93.17% เปิดใช้บริการปี 2563

โครงการดังกล่าว มีระยะทาง 11.08 กิโลเมตร เป็นเส้นทางยกระดับทั้งหมดมี 8 สถานี มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบริเวณเกาะกลางถนน โครงการจะเริ่มต้นโดยการต่อเชื่อมกับ MRT สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ

จากนั้น จะเข้าสู่ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผ่านสี่แยกบางโพ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณโรงเรียนเทคโนโลยีพระราม 6 ผ่านแยกบางพลัด แยกบรมราชชนนี แยกไฟฉาย และสิ้นสุดที่แยกท่าพระ โดยเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค

ช่วงหัวลำโพง - บางแค คืบหน้าแล้ว 93.17% เปิดใช้บริการปี 2562

โดยเส้นทางดังกล่าวมีระยะทาง 15.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง - ท่าพระ ระยะทาง 5.4 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี ทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ - บางแค ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร โดยมีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี

สำหรับ โครงการจะเริ่มต้นที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชย ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ ถนนอิสรภาพ

จากนั้น จะเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค และสิ้นสุดสายทางที่บริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม หรือ สายสีม่วง

ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ เปิดให้บริการไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 ส.ค.59 โดยจุดเชื่อมต่อระหว่าง MRT บางซื่อ และสถานีเตาปูน ที่ทุกคนรอคอยสร้างเสร็จแล้ว และจะมีการเปิดให้ใช้บริการ 11 ส.ค. 60 นี้

ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) คาดว่าจะมีการก่อสร้าง ปี 2561

สำหรับโครงการนี้ มีระยะทางทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างทางยกระดับ 11 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งสิ้น 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เริ่มจากจุดเชื่อมต่อสถานีเตาปูน เปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินแล้วเบี่ยงเข้าสู่ ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ หรือโรงเรียนโยธินบูรณะเดิม โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู

จากนั้น เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้า เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์

จากนั้น เปลี่ยนเส้นทางยกระดับผ่านแยกถนนจอมทองเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ช่วง แบริ่ง - สมุทรปราการ โครงการสร้างเสร็จสิ้น และเปิดให้ทดลองใช้บริการ 1 สถานคือ แบริ่ง-สำโรง บริการ เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายในปี 2561 จะเปิดให้บริการครบทุกเส้นทางดังนี้ สถานีสำโรง สถานีปู่เจ้าสมิงพราย สถานีพิพิธภัณฑ์เอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีสมุทรปราการ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีเคหะสมุทรปราการ 

หมอชิต–สะพานใหม่–คูคต คืบหน้า 33.7%  เปิดใช้บริการปี 2563

โครงการมีระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นทางวิ่งยกระดับตลอด มีสถานีจำนวน 16 สถานี โดยจะเริ่มต้นที่สถานีหมอชิต ของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร หรือ BTS

จากนั้น จะข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ห้าแยก ลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่ และเบี่ยงออกด้านขวาเลียบไปตามขอบอุโมงค์ลอกแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ

เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธิน แนวเส้นทาง จะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก หรือ ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ ข้ามคลองสอง ผ่านด้านข้างของสถานีตำรวจสภ.คูคต เข้าสู่บริเวณเกาะ กลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง หรือสถานีคูคต

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ช่วงตลิ่งชัน - มีนบุรี คืบหน้า 0.29% เปิดใช้บริการปี 2566

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีระยะทางรวม 39.6 กิโลเมตร เป็นสถานีใต้ดิน 23 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี โดยจะเริ่มต้นจากสถานีรถไฟตลิ่งชัน จากนั้นใช้แนวเขตรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินแล้วเบี่ยง ใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชแล้วเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี

จากนั้น เลี้ยวเข้าถนนราชปรารภ ถึงดินแดงแล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) ตัดตรงไปเชื่อมกับ MRT ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เบี่ยงเข้าแนวถนนพระรามเก้า ตัดผ่านถนนประดิษฐ์ธรรมนูญ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี แยกถนนกาญจนาภิเษก ไปสิ้นสุดที่สถานีสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี

ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

ช่วงตลิ่งชัน - ศูนย์วัฒนธรรม อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

ช่วงแคราย-มีนบุรี อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ บริเวณใกล้แยกแคราย วิ่งไปตามถนนติวานนท์จนถึงห้าแยกปากเกร็ด จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนแจ้งวัฒนะผ่านเมืองทองธานี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่แยกหลักสี่บริเวณริมถนนวิภาวดีรังสิต

จากนั้น จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ บนถนนพหลโยธิน บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ วิ่งไปบนถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าสู่เมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จนถึงสะพานข้ามคลองสามวา จึงเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบ และข้ามถนนรามคำแหง หรือถนนสุขาภิบาล 3 สิ้นสุดสถานีปลายทางที่บริเวณใกล้แยกถนนรามคำแหง-ร่มเกล้า ซึ่งจะบรรจบกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี รวม 30 สถานี ระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง

ช่วงลาดพร้าว - สำโรง อยู่ระหว่างดำเนินโครงการ

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ไปตามแนวถนนลาดพร้าว โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ของกทม.ที่กำลังอยู่ในช่วงศึกษาโครงการ



จากนั้น จะขึ้นยกระดับข้ามทางด่วนฉลองรัชจนถึงทางแยกบางกะปิ จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้ตามถนนศรีนครินทร์ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี ต่อจากนั้นแนวเส้นทางจะยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 โดยเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดมสุข แยกศรีเอี่ยม จนถึงแยกศรีเทพา

โดยจะเลี้ยวขวาอีกครั้ง ไปทางทิศตะวันตก ตามแนวถนนเทพารักษ์ ผ่านจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง และสิ้นสุดแนวเส้นทางบริเวณถนนปู่เจ้าสมิงพราย รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 23 แห่ง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ