ทุเรียนแพงทำชาวสวนอู้ฟู่!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทุเรียนแพงทำชาวสวนอู้ฟู่!

Date Time: 12 ก.ค. 2560 05:15 น.

Summary

  • สศก.ปลื้มดัชนีรายได้เกษตรกรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นพรวด 15.01% เนื่องจากผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตรเพิ่มขึ้น ชี้ครึ่งปีหลังผลไม้ออกผลผลิตเพียบ ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

สศก.ปลื้มดัชนีรายได้เกษตรกรครึ่งปีพุ่ง

สศก.ปลื้มดัชนีรายได้เกษตรกรครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นพรวด 15.01% เนื่องจากผลผลิตและราคาสินค้าการเกษตรเพิ่มขึ้น ชี้ครึ่งปีหลังผลไม้ออกผลผลิตเพียบ ทั้งทุเรียน เงาะ มังคุด

น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรช่วงครึ่งปีแรก 2560 (ม.ค.-มิ.ย.) เพิ่มขึ้น 15.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 จากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.68% โดยสินค้าสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก-เจ้า อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน เงาะ มังคุด จากปัญหาภาวะภัยแล้ง ที่คลี่คลายลง สภาพอากาศมีฝนตกชุก น้ำในเขื่อนมีปริมาณสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา และกุ้งขาวแวนนาไม ที่สามารถแก้ปัญหาโรคตายด่วน(อีเอ็มเอส) ได้ ส่วนดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.86% จากสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน ทุเรียน และมังคุด ทั้งนี้ หากวิเคราะห์รายหมวดสินค้าสำคัญ พบว่า หมวดพืชผล สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากที่สุด ขยายตัว 21.42% รองลงมาคือ หมวดประมง ขยายตัว 17.81% ส่วนหมวดปศุสัตว์ ติดลบ 4.56%

“แนวโน้มรายได้ของเกษตรกรในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งสภาพอากาศที่จะยังมีฝนตก ส่งผลให้น้ำในเขื่อนมีใช้ทำการเกษตรอย่างเพียงพอ ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังจะมีผลผลิตทางการเกษตรที่เก็บเกี่ยวจำนวนมาก ทั้งผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ในภาคใต้ ลำไยในภาคเหนือ ข้าวในภาคกลาง ภาคปศุสัตว์ ที่จะให้ผลผลิตดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่จะดีขึ้นกว่าช่วงต้นปี เฉลี่ยมากกว่า 50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล รวมทั้งภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเป็นปัจจัยผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง”

สำหรับสินค้าสำคัญที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร ได้แก่ ยางพารา รายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราช่วงครึ่งปีแรก 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 53.28% เป็นผลมาจากดัชนีราคายางพารา เพิ่มขึ้น 55.86% เนื่องจากกลุ่มผู้ส่งออกยาง 3 ประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้กำหนดนโยบายควบคุมปริมาณการส่งออก การขยายตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีน ส่วนดัชนีผลผลิตปรับตัวติดลบ 1.66% ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศทางภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องและเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่สำคัญของการปลูกยาง

ส่วนข้าวเปลือกเจ้า รายได้เพิ่มขึ้น 71% เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 88.81% ซึ่งเป็นข้าวนาปรังที่ปลูกในเขตชลประทานไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนดัชนีราคาติดลบ 3.84% ตามกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ปาล์มน้ำมันรายได้เพิ่มขึ้น 7.04% เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้น 14.72% เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม ส่วนดัชนีราคาติดลบ 6.70% ตามกลไกตลาดที่มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ขณะที่อ้อยโรงงาน รายได้เพิ่มขึ้น 45.31% เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตอ้อยโรงงาน เพิ่มขึ้น 7.88% จากคุณภาพผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2559/60 อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ประกอบกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านกระบวนการผลิตน้ำตาลของโรงงานทุกแห่ง ส่งผลดีต่อผลผลิตน้ำตาลทราย ในทางเดียวกันดัชนีราคาเพิ่มขึ้น 34.70% จากราคาน้ำตาลทรายโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำตาล ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายได้ปรับตัวสูง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ