'พาณิชย์' ช่วยชาวสวนยาง เดินหน้าหาตลาดรองรับผลผลิต ทั้งยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ เตรียมแผนจัดเวทีเจรจาธุรกิจ และนำคณะออกไปเจรจาขายในต่างประเทศ ส่วนระยะเร่งด่วน สั่งทูตพาณิชย์ติดต่อผู้นำเข้า หวังเพิ่มยอดส่งออกในทันที
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่าง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ราคายาง ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลด้านการตลาด ได้หาตลาดรองรับให้กับยางพาราและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การค้ายางและผลิตภัณฑ์ยาง
ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการ และจะจัดคณะผู้แทนการค้ายางพาราไปเจรจาขายในตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายคือ จีน ลาตินอเมริกา บังกลาเทศ และอิหร่าน คาดว่าน่าจะดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้
“ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ เร่งติดต่อและสอบถามผู้นำเข้าในประเทศที่ตนเองประจำอยู่ว่าต้องการนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์จากไทยหรือไม่ หากมีก็ให้รีบประสานเข้ามา เพื่อที่จะได้ประสานให้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกต่อไป และหากจำเป็นต้องจัดคณะผู้แทนการค้าออกไปเจรจา ก็พร้อมที่จะดำเนินการในทันทีเช่นกัน การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยดึงให้ราคายางพาราในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้”
สำหรับสินค้าเป้าหมายที่จะเร่งผลักดันให้มีการส่งออกเร่งด่วน ได้แก่ ยางพาราธรรมชาติ อะไหล่ยานยนต์ ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ ล้อยาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ ที่กระทรวงฯ ได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ๆ ที่มีโอกาสส่งออก เช่น เครื่องใช้ในบ้าน ที่นอน หมอน รองเท้า ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เตรียมแผนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น งาน AAPEX ประเทศสหรัฐฯ ปลายเดือน ต.ค. และงาน Medica ที่เยอรมนี ในเดือน พ.ย.นี้ เป็นต้น
นางอภิรดี กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ราคายางพาราตกต่ำว่า ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันโลกตกต่ำ ส่งผลให้ราคายางพาราลดลง เพราะสามารถนำยางสังเคราะห์มาใช้แทนได้ กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งผลักดันการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ รวมทั้งการส่งออกยางแปรรูป ซึ่งช่วยดึงราคายางให้สูงชึ้น โดยในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 60 การส่งออกยางพาราธรรมชาติ ทั้งยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และยางอื่นๆ มีปริมาณ 1.48 ล้านตัน ลดลง 0.82% มีมูลค่า 2,834.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 63.55%
ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์ยางพาราอื่นๆ มีมูลค่า 4,066.12 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 58.98% คาดว่าแนวโน้มน่าจะขยายตัวดีขึ้น เพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในปี 58 กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง 2 ครั้ง มีผู้ประกอบการไทย 88 ราย ผู้ซื้อกว่า 250 ราย ส่วนในปี 59 มีผู้ประกอบการไทยกว่า 110 ราย ผู้ซื้อกว่า 400 ราย เข้าร่วมเจรจาซื้อ-ขายสินค้า เช่น ยางพารา น้ำยาง ยางอัดแท่ง และผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงมือตรวจโรค ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางนอกยางในรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ ยางกันซึม ที่นอนยาง หมอนยาง และอะไหล่เครื่องออกกำลังกาย เป็นต้น สามาถเจรจามียอดการขายรวม 785,450 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกกว่า 53,398.20 ล้านบาท.