เวียดนามยึดตลาดจีน “มะม่วงไทย” หล่นบัลลังก์ ยอดส่งออกหาย 70% จีนเทใจ ราคา-คุณภาพ ให้เวียดนาม

Date Time: 4 มิ.ย. 2568 15:10 น.

Summary

ผลไม้ส่งออกไทยไปจีน ระส่ำ ทุเรียนราคาตก เวียดนามลอบสวมสิทธิ ล่าสุด “มะม่วงไทย” หล่นบัลลังก์ รั้งท้ายTOP5 ยอดส่งออก หาย 70% หลังจีนเทใจ แง่ ราคา-คุณภาพ ให้เวียดนาม ยอดนำเข้าโต 145 เท่า

ไทยเคยเป็น "เจ้าตลาดผลไม้ส่งออก" โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งถือเป็นปลายทางสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกไทยมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด หรือมะม่วง แต่ภาพความเป็นผู้นำของไทยกำลังสั่นคลอนอย่างหนัก

หลังจาก “ทุเรียนไทย” เสียแชมป์ให้เวียดนาม ไปหมาด ๆ ท่ามกลาง ความท้าทายรอบด้านทั้งจากภายในและภายนอก ราคาอยู่ในจุด ตกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี หลังราคาหน้าสวนเหลือกิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาท

อีกทั้งยังมีกระแสข่าว ขบวนการจากเวียดนาม เข้ามาสวมสิทธิ ทุเรียนไทย เพื่อส่งออกไปจีน ส่งผลให้ภาครัฐไทยกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ เพราะได้สร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของทุเรียนไทยอย่างวงกว้าง

ล่าสุด “มะม่วง”  หนึ่งในผลไม้ที่ไทยเคยครองตลาดอย่างมั่นคง ก็หลุดจากตำแหน่งผู้นำ ร่วงไปอยู่ท้ายแถวใน Top 5 ผู้ส่งออกสู่จีน ด้วยยอดส่งออกที่หายไปถึง 70% 

ในขณะที่ เวียดนามก้าวขึ้นมายึดตลาดได้เกือบ 97% ไม่ใช่ด้วยโชคช่วย แต่ด้วย ความได้เปรียบด้านราคา คุณภาพ และการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ ที่ตอบโจทย์ตลาดจีนได้มากกว่าไทย

ทั้งหมดดูเหมือน นี่ไม่ใช่แค่เรื่อง “ผลไม้กล้วยๆ” แต่เป็นสัญญาณเตือนว่า แม้แต่ภาคการเกษตร  จุดแข็งดั้งเดิมของไทย  ก็ยังเผชิญแรงกดดันด้านการแข่งขันอย่างหนัก ท่ามกลางเวทีโลกที่เปลี่ยนไป

เมื่อเวียดนาม มีคล่องตัวในการเจาะตลาดส่งออก เราจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า ไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันแค่ไหน? 

หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีการปรับตัว รายได้จากการส่งออกผลไม้  ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี อาจหายไปอย่างถาวร และกระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลรายงานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า มะม่วงเวียดนาม สามารถบุกตลาดจีนได้อย่างโดดเด่นในไตรมาสแรกของปี 2568 ผ่านการครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้า ถึง 97% แซงหน้าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อย่างไทย เปรู และ ออสเตรเลียได้อย่างเหนือ ความคาดหมาย 

ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นราคาที่แข่งขันได้ คุณภาพของผลผลิตที่คงที่ และความสามารถ ในการจัดส่งที่รวดเร็วและตรงเวลา 

จากข้อมูลของศุลกากรจีน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 จีนได้นำเข้ามะม่วงจาก 6 ประเทศ รวมมูลค่าสูงถึง 29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 21 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 

ภายใต้การนำเข้าจากประเทศคู่ค้ารายเดิมอย่างไทยและเปรูจะลดลงอย่างมาก แต่มะม่วงจากเวียดนามกลับโดดเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษ โดยสามารถส่งออกได้เกือบ 40,700 ตัน ทำรายได้กว่า 28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 145 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่สำคัญราคาส่งออกเฉลี่ยยังขยับขึ้นถึง 72.6% ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมและการยอมรับอย่างสูงจากผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามครองตลาดมะม่วงในจีนได้อย่างมั่นคง คือการตั้งราคาส่งออกที่เหมาะสม โดยมะม่วงเวียดนามมีราคาส่งออกเฉลี่ยประมาณ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งใกล้เคียงกับราคาของกัมพูชา แต่ต่ำกว่าของไทย เปรู และออสเตรเลียที่มีราคาตั้งแต่ 6,000 ถึง 11,000 เหรียญสหรัฐต่อตันอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้กับจีน ทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำ การจัดส่งรวดเร็ว และช่วยรักษาคุณภาพของผลไม้ให้สดใหม่จนถึงมือลูกค้าได้ดีขึ้น

อีกหนึ่งจุดแข็งที่สำคัญของเวียดนาม คือ การส่งออกมะม่วงในช่วงนอกฤดูของจีน ระหว่างเดือนกันยายนถึงมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตมะม่วงในจีนมีน้อยและความต้องการสูง ทำให้มะม่วงเวียดนามสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดได้อย่างมีกำไร โดยในช่วงที่ความต้องการสูงสุด มะม่วงเกรดพรีเมียมของเวียดนามมีราคาสูงถึง 100,000 เวียดนามด่งต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ