“พิชัย” รมว.พาณิชย์ ยอมรับสหรัฐฯเก็บภาษี 37% เกินคาด พร้อมเปิดลิสต์ 15 สินค้าที่โดนกระทบหนัก ลั่นเดินหน้าเจรจาต่อรองทันทีที่สหรัฐฯรับนัด มั่นใจเจรจาได้แน่
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐฯขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 37% ว่ารู้สึกตกใจที่สหรัฐฯประกาศเก็บภาษีไทยอัตราสูงมากเกินกว่าความคาดหมาย โดยสหรัฐฯได้คำนวณจากอัตราภาษีที่คู่ค้าเก็บจากสหรัฐฯ และสหรัฐฯเก็บจากคู่ค้า รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ซึ่งของไทยคำนวณได้ 72% แต่เก็บจริง 37% แต่ยังต่ำกว่าประเทศอื่นอย่างเวียดนาม ที่ถูกเก็บถึง 46% ทั้งๆที่เวียดนามได้เปิดเจรจากับสหรัฐฯก่อน หรืออย่างญี่ปุ่นที่เจรจากับสหรัฐฯก่อนเช่นกันก็ยังถูกเก็บที่ 24%
อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องห่วง เพราะไทยมีคณะทำงานที่เตรียมความพร้อมเจรจากับสหรัฐฯไว้แล้ว ซึ่งได้กำหนดแนวทาง ยุทธศาสตร์การเจรจา และการเยียวยาผลกระทบแล้ว และมีความหวังว่า จะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้สหรัฐฯลดภาษีลงได้ ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่ปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 3% หรือไม่ ขณะนี้ยังบอกไม่ได้
“ไทยพร้อมเจรจาตลอดเวลา รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร ซึ่งเราได้นัดหมายกับสหรัฐฯไปตั้งแต่เดือน ม.ค.68 แล้ว การขึ้นภาษีครั้งนี้ ทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด แต่เราจะเจรจาให้สหรัฐฯลดภาษีให้ได้ และมีความหวังว่าจะสำเร็จ”
ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถือว่าเกินความคาดหมาย สำหรับไทย ที่ประธานาธิบดีถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดย
ไทยพร้อมเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐฯนัดมา ถ้านัดวันนี้ พรุ่งนี้ และเดินทางไปไม่ทัน จะมีทีมไทยแลนด์ ที่มีเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รมว.พาณิชย์ จะเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเดินทางไปเอง
สำหรับการขึ้นภาษีตอบโต้ครั้งนี้ สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมากๆ จะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมูลค่าสูงๆ โดย 15 สินค้าแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯมาก ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องพรินเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% จะทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐฯได้รับผลกระทบ 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วง 1 ปีถ้าไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ขณะนี้สูงถึง 37% ก็ประมาณ 25,000-26,000 ล้านเหรียญ หรือราว 880,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าที่ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯที่ประมาณ 30,000-40,000 ล้านเหรียญ แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้วเป็นผลสำเร็จ ก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม ที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่นั้น ต้องคำนวณอีกครั้ง
ส่วนแนวทางการเจรจาต่อรองนั้น 1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่จากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ 3.ลดเงื่อนไขต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าของสหรัฐฯ
“มั่นใจว่าจะเจรจาต่อรองได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการ ที่สหรัฐฯได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน ความมั่นคง การทหาร การเป็นพันธมิตรที่ดี หรือแม้แต่ความมั่นคงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยได้คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด และผลกระทบที่จะเกิดกับทุกฝ่ายน้อยที่สุดแล้ว”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ โดยได้หารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แล้ว เช่น อาจจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ
นายวุฒิไกรกล่าวถึงประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจมีสินค้าจากหลายประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯไม่ได้และส่งออกมาทุ่มตลาดไทย และอาเซียนนั้น กระทรวงพาณิชย์มีคณะกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งทำงานล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว และเกิดผลสำเร็จชัดเจน เช่น มีการนำเข้าสินค้าทางออนไลน์ลดลง มีตัวเลขการปราบปรามสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มูลค่าความเสียหายของสินค้าไร้มาตรฐานที่จับกุมได้มากขึ้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่