“สุริยะ” สั่ง รฟท.เช็กความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการ “ไฮสปีดไทย–จีน” เฟส 1 ทั้งระบบ สั่งเช็กวัสดุอุปกรณ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน-ปลอดภัย โฟกัสสัญญา 3–1 หลังผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้า ITD–CREC No.10 คาดได้ข้อสรุปภายใน 2 วัน ขู่หากพบสิ่งผิดปกติให้หยุดงานทันที ด้านระบบไฟฟ้าไทยยังมั่นคง เสริมระบบไฟฟ้าสำรองรับภัยฉุกเฉิน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของประเทศ ไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมตรวจสอบ ความปลอดภัยในทุกโครงการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้ง ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการของ รฟท. โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งมีทั้งหมด 14 สัญญา ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร (กม.) ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยุคที่แล้ว
ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าว เพื่อสำรวจถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น โดยให้ รฟท.ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมาทั้งระบบ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. วงเงิน 9,348 ล้านบาท เนื่องจากพบว่ามีผู้รับจ้างเป็น บจ.กิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวล เพราะเป็นบริษัทร่วมค้ากลุ่มเดียวกันกับที่สร้างตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 30 ชั้น ที่เกิดเหตุการณ์ถล่มลงมา หลังเกิดแผ่นดินไหวในสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการ รฟท.ไปดำเนินการตรวจสอบโครงการอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการกำหนดสเปกอย่างไร ซึ่งในขณะนี้ รฟท.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ และขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ามีความปลอดภัยรวมทั้งต้องมั่นใจว่ามีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยคาดว่า การตรวจสอบจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน นอกจากนั้นยังสั่งการให้ รฟท.แจ้งไปยังผู้ควบคุมงานให้ออกตรวจหน้างานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เมื่อพบสิ่งผิดปกติ จะแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หากไม่แก้ไขจะรายงานให้ รฟท.ออกคำสั่งหยุดงานทันที”
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงคมนาคมว่า ในเบื้องต้นจากการตรวจสอบงานโครงการรถไฟไทย-จีน สัญญา 3-1 พบว่า ใช้เหล็กเสริมจากบริษัท ทาทา สติล ซึ่งเป็นเหล็กที่ผลิตโดยโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล ที่มีจำหน่ายอยู่หลายสาขาทั่วโลก โดยเหล็กที่ใช้เป็นการผลิตแบบปล่อยให้เหล็กเย็นลงโดยไม่ได้ใช้ละอองน้ำฉีดเข้าไป และมีการควบคุมคุณภาพ
ด้านนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมของระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของประเทศเป็นปกติมีความมั่นคง แม้ว่าเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาอาจมีผลกระทบต่อภาพรวมของระบบอยู่บ้าง แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีและสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ให้กลับมาเป็นปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาทำให้แรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่ออาคารและสถานที่ต่างๆในหลายพื้นที่ของไทยเป็นวงกว้าง กกพ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 3 วันที่ผ่านมา และพบว่ามีไฟฟ้าขัดข้องส่งผลกระทบต่อการจ่ายไฟฟ้าในบางพื้นที่ 11 จังหวัด ในภาคเหนือและภาคกลาง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องได้แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงและจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติ เช่นเดียวกับผลการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนต่างๆของ กฟผ.พบว่า ไม่พบความผิดปกติ และความเสียหายใดๆในตัวเขื่อน และอาคารประกอบอื่นๆ ซึ่งยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี”
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ทั้ง 3 การไฟฟ้ามีการเสริมระบบไฟฟ้าสำรองให้มีความพร้อมเพื่อความราบรื่นต่อเนื่องในการจ่ายกระแสไฟฟ้า จึงทำให้แม้เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาอย่างเช่นครั้งนี้ ที่ส่งผลให้ระบบอัตโนมัติของโรงไฟฟ้าสั่งหยุดเดินเครื่องและหลุดออกจากระบบ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 4 ส่วนที่ 1 เป็นผลให้กำลังผลิตหายไปประมาณ 600 เมกะวัตต์ แต่ปรากฏว่ายังมีโรงไฟฟ้าสำรองอย่างเพียงพอจึงเดินเครื่องส่งไฟฟ้าเข้าระบบทันเวลาและสามารถรักษาระบบไว้ได้.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่