มีข้อมูลคาดการณ์ อย่างศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากเหตุแผ่นดินไหวล่าสุด เบื้องต้นคิดเป็นเม็ดเงิน ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท กระทบ GDP -0.06% ซึ่งหลักๆ มาจากการหยุดชะงัก หรือ เลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เพราะธุรกิจและครัวเรือนต้องโยกกระแสเงินสด/รายได้ไปใช้เพื่อการตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร ทั้งนี้ หากรวมความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน การทรุดตัว/การสั่นสะเทือนของอาคารบางแห่งเพิ่มเติม รวมถึงการซ่อมแซมและการเคลมประกัน หลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้ จนอาจกด GDP ปี 2568 เติบโตต่ำกว่า 2.4%
อย่างไรก็ดี แม้แผ่นดินไหวจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล แต่ภายใต้วิกฤติครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีภาคธุรกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ เมื่อความต้องการด้านการซ่อมแซม การก่อสร้าง การตรวจสอบอาคาร และการประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น เม็ดเงินจำนวนมากกำลังเคลื่อนเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง
1.ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและซ่อมแซม
เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติ อาคารบ้านเรือนหลายแห่งต้องได้รับการซ่อมแซมหรือปรับปรุงใหม่ ซึ่งวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในการซ่อมแซมก็มีความต้องการสูง โดยมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจวัสดุก่อสร้างอาจได้รับอานิสงส์จากความต้องการสูงขึ้น เช่น เหล็ก, คอนกรีต, อิฐ, หรือวัสดุกันสั่น เทียบตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นที่เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ วัสดุก่อสร้างและธุรกิจซ่อมแซมได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูโครงสร้างอาคาร
อีกทั้ง เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อาจทำให้มาตรฐานการก่อสร้างของไทยต้องปรับตัว ซึ่งจะกระตุ้นให้ บริษัทวัสดุก่อสร้างและซ่อมแซมที่มีเทคโนโลยีต้านแผ่นดินไหวได้รับอานิสงส์ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเทคโนโลยีช่วยเสริมโครงสร้างอาคารให้ปลอดภัยมากขึ้น
2.ธุรกิจประกันภัย
มีการคาดการณ์ว่า แม้ธุรกิจประกันภัยอาจเผชิญการเคลมจำนวนมากจากเหตุแผ่นดินไหวรอบนี้ ซึ่งเป็นภาระทางการเงินมหาศาล แต่ในระยะถัดไป อุตสาหกรรมนี้อาจได้รับอานิสงส์ในบางด้าน
เพราะ หลังจากเกิดภัยพิบัติ บริษัทประกันมักปรับขึ้นเบี้ยประกันเพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกรมธรรม์ที่เกี่ยวข้องกับภัยแผ่นดินไหว เจ้าของอาคารหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์อาจต้องจ่ายเบี้ยแพงขึ้น หากต้องการความคุ้มครองที่มากขึ้น
ซึ่งยังมาพร้อมกับ อุปสงค์ประกันภัยที่เพิ่มขึ้น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจทำให้ประชาชนและธุรกิจตระหนักถึงความเสี่ยงและความสำคัญของการทำประกันมากขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่รวมภัยธรรมชาติ หรือกรมธรรม์เฉพาะทาง เช่น ประกันภัยแผ่นดินไหว เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ ความเป็นไปได้ ที่บริษัทประกันพิจารณาปรับเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ เช่น ลดวงเงินคุ้มครอง เพิ่มข้อกำหนดพิเศษ หรือกำหนดให้ผู้เอาประกันต้องใช้มาตรฐานการก่อสร้างที่รองรับแผ่นดินไหว เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
จึงจะเห็นได้ว่า แม้ว่าธุรกิจประกันภัยจะเผชิญแรงกดดันจากการเคลมในระยะสั้น แต่ในระยะยาว โอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการบริหารความเสี่ยงผ่านประกันภัยต่อ อาจทำให้ธุรกิจนี้ยังสามารถขยายตัวได้
3.ธุรกิจซ่อมแซมเครื่องจักรและระบบโครงสร้าง
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ไม่เพียงแต่โครงสร้างอาคารและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ แต่ โรงงานอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และระบบเครื่องจักรกล ก็อาจได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนเช่นกัน ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การซ่อมแซม ตรวจสอบ และทดแทนเครื่องจักรและระบบโครงสร้าง มีความต้องการสูงขึ้น
โรงงานและอาคารอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เช่น รอยร้าวของเสาคาน คอนกรีตแตกร้าว การทรุดตัวของฐานราก จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าและท่อส่งน้ำ/ก๊าซในโรงงาน อาจเกิดการรั่วหรือชำรุด ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมหรือปรับปรุงใหม่ ,โครงสร้างสะพานและระบบทางยกระดับ ที่อาจเกิดรอยร้าวหรือเคลื่อนตัว ทำให้บริษัทวิศวกรรมโยธาและโครงสร้างต้องเข้ามาให้บริการเสริมความแข็งแรง
4.ธุรกิจบริการที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและการตรวจสอบโครงสร้าง
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หลายบริษัทวิศวกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอาจได้รับงานมากขึ้นในช่วงที่มีภัยพิบัติ หลังแผ่นดินไหวของไทย อาคาร บ้านเรือน โรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน อาจได้รับความเสียหาย โดยที่มองไม่เห็นจากภายนอก การตรวจสอบเชิงลึกโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็นในการประเมินว่าควร ซ่อมแซม เสริมโครงสร้าง หรือรื้อถอน
เทียบในหลายประเทศ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว รัฐบาลมักออกมาตรการให้ เจ้าของอาคารและภาคอุตสาหกรรมต้องจัดให้มีการตรวจสอบโครงสร้างภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้ธุรกิจที่ให้บริการตรวจสอบมีงานเพิ่มขึ้น นอกจากการตรวจสอบโครงสร้างที่ได้รับผลกระทบแล้ว ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมอาจต้องการที่ปรึกษาด้านการออกแบบโครงสร้างใหม่ให้รองรับแผ่นดินไหวมากขึ้น
5.ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์
เมื่อตึกหรือบ้านได้รับความเสียหาย การขนส่งวัสดุหรืออุปกรณ์ซ่อมแซมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แม้ว่าแวดวงโลจิสติกส์อาจไม่ใช่กลุ่มธุรกิจแรกที่ถูกพูดถึงหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและอาคารที่ได้รับความเสียหาย
ทำไมธุรกิจขนส่งถึงได้รับอานิสงส์หลังแผ่นดินไหว ? เพราะ เมื่ออาคารหรือโครงสร้างเสียหาย วัสดุซ่อมแซม เช่น เหล็ก คอนกรีต อิฐ กระเบื้อง ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ฯลฯ ต้องถูกขนส่งจากโรงงานหรือคลังสินค้าไปยังจุดก่อสร้างทั่วประเทศ
ไหนจะการขนส่งเครื่องจักรหนัก เช่น รถเครน รถตัก และอุปกรณ์เสริมความแข็งแรงโครงสร้าง จะมีความต้องการสูงขึ้น นั่นทำให้ ธุรกิจที่ให้บริการขนส่งวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่ อาจได้รับผลบวกจากสถานการณ์นี้
ไม่นับรวม แผ่นดินไหวมักทิ้งซากอาคารที่ต้องรื้อถอน ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวข้องกับ การขนย้ายเศษซากและการกำจัดวัสดุเหลือใช้ จะมีงานเพิ่มขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การรีไซเคิลเศษวัสดุจากการก่อสร้าง อาจได้รับโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney