Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

หมดยุคตึกถูก? “แผ่นดินไหว” อาจทำให้ บ้าน-คอนโดฯ แพงขึ้น ความปลอดภัยที่คนไทยต้องแลก

Date Time: 1 เม.ย. 2568 10:24 น.

Summary

  • "แผ่นดินไหว" เปลี่ยนเกมอสังหาฯ ไทย เมื่อความปลอดภัยกลายเป็นปัจจัยหลักในการเลือกที่อยู่อาศัยยุคใหม่ จับตา เทคโนโลยีก่อสร้างจากญี่ปุ่น อาจกลายเป็นจุดขายใหม่ ต้นทุนและราคา บ้าน-คอนโดฯ ที่อาจสูงขึ้น เพื่อแลกกับความปลอดภัย

เหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้อยู่อาศัยในตึกสูงหลายแห่ง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ที่ได้รับผลกระทบ จากแรงสั่นสะเทือน มีรายงาน และภาพข่าวมากมาย ว่าผู้อยู่อาศัยบางราย ต้องวิ่งลงจากอาคารที่มีความสูงมากกว่า 30 ชั้น เพื่อเอาชีวิตรอด 

ท่ามกลางความหวาดกลัวดังกล่าวที่เกิดขึ้น ยังมาพร้อมกับกระแสความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในอนาคต เพราะเหตุแผ่นดินไหวล่าสุด ในประเทศไทย เป็นเครื่องเตือนใจว่า ความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป 

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในแนวแผ่นเปลือกโลกชนกันโดยตรง แต่ ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ขึ้นไปเกิดขึ้นมากกว่า 100 ครั้ง โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันตกที่มีรอยเลื่อนที่ยังมีพลัง

แผ่นดินไหวกระทบตลาดคอนโดฯ แค่ระยะสั้น หรือเป็นจุดเปลี่ยนถาวร?

หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ตลาดคอนโดฯ อาจเผชิญกับภาวะชะลอตัว ยอดขาย และ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ ในบางโครงการช้าลง เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความลังเลในการเลือกอยู่อาศัยในอาคารสูง เพราะความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่เคยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยต้องคำนึงถึง 

บ้างประเมินว่า นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของตลาดอสังหาฯ ความนิยมที่จะมีเพิ่มขึ้นในกลุ่ม คอนโดฯ low-rise หรือ คอนโดฯ ที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น แทน เพราะให้ความรู้สึกปลอดภัยมากกว่า เมื่อเทียบกับคอนโดฯ high-rise ที่อาจต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงกว่า

อย่างไรก็ตาม บางส่วนมองว่า ผลกระทบนี้อาจเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น และจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น คล้ายกับช่วงหลังวิกฤติต่างๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว คอนโดฯ ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยที่จำเป็นของคนเมือง เพียงแต่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกซื้อมากขึ้น 

ทั้งนี้ สมาคมอาคารชุดไทย ยังออกมาให้ความมั่นใจว่า จากการที่ ไม่มี“คอนโดฯ” ที่เปิดใช้อาคาร แห่งไหนเลย พังลงมา ก็ได้แสดงถึง มาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงของไทย ว่าอยู่ในระดับดี เนื่องจากอาคารสูงทุกอาคาร ในประเทศไทย หลังปี 2550  ถูกบังคับให้มีการก่อสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอยู่ก่อนแล้ว

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของเจ้าของโครงการต่างๆ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ๆ นับสิบราย ออกมาใช้มาตรการเชิงรุก ทำงานแข่งกับเวลา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ประสาน ทีมวิศวกร ผู้รับเหมา บริษัทประกันภัย กลุ่มวัสดุก่อสร้าง สถาบันทางการเงิน ให้การช่วยเหลือ “ลูกบ้าน” อย่างเต็มที่ บนความจริงที่ว่า …เป็นเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น 

มาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์?

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมผู้บริโภค แบรนด์ไหน สื่อสาร แก้ปัญหา ได้ “เข้าตา” และ “ตกรอบ” ในหมู่ผู้บริโภคแล้ว อีกประเด็นที่อาจเกิดขึ้น คือ การปรับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสูงที่อาจถูกเข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • การออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหวได้ดีขึ้น
  • การใช้วัสดุที่แข็งแรงและยืดหยุ่นมากขึ้น
  • การเพิ่มมาตรการด้านการอพยพฉุกเฉิน

เมื่อมาตรฐานก่อสร้างสูงขึ้น ย่อมหมายถึงต้นทุนการพัฒนาโครงการที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ราคาอสังหาริมทรัพย์อาจปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการใหม่ ๆ ที่ต้องลงทุนเพิ่มเติมในด้านความปลอดภัย

บ้านและคอนโดฯ ยุคใหม่ ราคาแพงขึ้น แต่ปลอดภัยขึ้น จะยอมแลกไหม ? 

ประเมินว่า ในอนาคต ผู้บริโภคอาจต้องเตรียมรับมือกับราคาบ้านและคอนโดฯ ที่สูงขึ้นจากต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานใหม่ ในประเด็นนี้ “สุรเชษฐ กองชีพ” หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย เผยกับ Thairath Money ว่า คาด จากเหตุแผ่นดินไหว กระทบอาคารหลายแห่ง อาจทำให้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหว มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันสมัย เหมือนครั้งปี 2564 

ซึ่งคงมีผลให้การออกแบบอาคารสูงที่เกิน 23 เมตร หรืออาคารขนาดใหญ่ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และแน่นอน ต้นทุนย่อมสูงขึ้น ราคาขายคอนโดมิเนียมในมาตรฐานใหม่ ก็คงต้องปรับเพิ่มขึ้น 

แต่ก็ต้องดูว่าผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีหรือวัสดุอุปกรณ์อะไรมาเพิ่มในโครงสร้างของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการที่มีการร่วมทุนกับผู้ประกอบการญี่ปุ่นอาจจะมีการนำเทคโนโลยีหรือมาตรฐานบางอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแผ่นดินไหวมาปรับใช้ในประเทศไทย แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าราคาขายสูงขึ้น 20 - 30% หรือมากกว่านี้ก็คงลำบากในการขายอย่างแน่นอน เพราะราคาปัจจุบันตามต้นทุนปัจจุบันยังขายได้ยาก ไม่นับรวมปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ทำให้การยื่นกู้ขอสินเชื่อของคนไทยไม่ผ่านสูง 50-70% ในช่วงที่ผ่านมา 

แต่ทั้งนี้ กูรูอสังหาฯ วิเคราะห์ว่า หากอ้างอิง ตามมาตรฐานการก่อสร้าง หลังจากปี 2550 ที่ใช้กันมาก่อน และมีการปรับอีกครั้งช่วงปี 2564 ก็น่าจะเพียงพอต่อการรับมือแผ่นดินไหวแล้ว

สำหรับ ญี่ปุ่น เรียกได้ว่า เป็นประเทศที่ประสบกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง นั่นทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการก่อสร้างที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่ 

  • โครงสร้างยืดหยุ่น (Flexible Structure): การใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง เช่น เหล็กและไม้ เพื่อให้อาคารสามารถเคลื่อนไหวและดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ โดยไม่เกิดความเสียหายรุนแรง 
  • ระบบฐานรากลอย (Base Isolation System): การติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ เช่น แผ่นยางหรือแผ่นเหล็ก ระหว่างฐานรากและตัวอาคาร เพื่อแยกการสั่นสะเทือนของพื้นดินออกจากโครงสร้างอาคาร ทำให้อาคารสั่นไหวน้อยลงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
  • การออกแบบโครงสร้างที่เน้นความยืดหยุ่น : การออกแบบอาคารให้สามารถเคลื่อนไหว โค้งงอ หรือเปลี่ยนรูปได้ในระดับหนึ่งเมื่อได้รับแรงกระทำจากภายนอก โดยไม่เกิดการแตกหักหรือพังทลาย

โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในการก่อสร้างจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นคงของอาคารในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหว และนี่อาจเป็นราคาที่คนไทยต้องยอมจ่ายเพิ่ม หากแลกมากับความปลอดภัยที่มากขึ้นของที่อยู่อาศัย

สุดท้าย แม้จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวมากเพียงใด แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ได้ทำให้หลายฝ่ายตระหนักว่า เรื่องความมั่นคงของโครงสร้างอาคารและภัยธรรมชาตินั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจนำมาซึ่งภัยพิบัติที่คาดเดาไม่ได้ การลงทุนในความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยอาจไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็น “ความจำเป็น” ที่ทุกคนต้องพิจารณามากกว่าเก่า

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)