ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเบื้องต้น แผ่นดินไหวทำเศรษฐกิจไทยเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมความเสียหายจากอาคารบ้านเรือน เคลมประกันภัย ขณะที่คลังเร่งหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วน ธปท.ห่วงท่องเที่ยว–อสังหาฯ กระทบหนัก จากกังวลความไม่ปลอดภัย ขณะที่ภาคท่องเที่ยว จี้รัฐเร่งสร้างเชื่อมั่น หวั่นนักท่องเที่ยวยกเลิกเที่ยวไทย ส่วน 5 แบงก์พาณิชย์ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่รายงานประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.68 ว่า เบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท หรือทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 0.06% จากการหยุดชะงักหรือเลื่อนออกไปของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อที่อาจลดลง เพราะธุรกิจและครัวเรือนโยกเงินสด และรายได้ไปใช้ ตรวจสอบความเสียหายและซ่อมแซมอาคาร แต่หากรวมความเสียหายของอาคาร ทรัพย์สิน การซ่อมแซมและ
การเคลมประกันหลังจากนี้ ผลกระทบจะมากกว่านี้
ขณะที่ผลต่อธนาคารพาณิชย์นั้น ต้องติดตาม คือ 1.คุณภาพหนี้ โดยเฉพาะหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และสินเชื่อที่อยู่อาศัย 2.การไถ่ถอนหุ้นกู้ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และ 3.ผลจากการลดดอกเบี้ยในประเทศ หากเศรษฐกิจไทยชะลอจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทยได้
คลังเร่งหาทางช่วยผู้ประสบภัย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังศึกษาและวางแผนทางการช่วยเหลือผู้ประภัยจากแผ่นดินไหว เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงไม่มีระเบียบการเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เหมือนกับภัยน้ำท่วม หรือไฟไหม้ โดยเฉพาะกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม กำลังติดตามจากบริษัทประกันภัย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือใดบ้าง
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ มองว่าเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น และพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆมาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แตะ 3% “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า เสาหลักทางเศรษฐกิจ ทั้งการเงินและการคลังยังปกติ และจะเร่งสร้างเชื่อมั่นว่าสถานการณ์จะเป็นปกติเร็วที่สุด ไทยยังมีความเข้มแข็ง มั่นคงด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว”
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารกรุงไทย โดยพักชำระหนี้ และสินเชื่อผ่อนปรน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ และกรมบัญชีกลางได้ออกหลักเกณฑ์ผ่อนปรนสำหรับการซ่อมแซมส่วนราชการที่ได้รับความเสียหาย สามารถดำเนินการจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้ ส่วนตึกของ สตง.ที่ถล่มนั้น ยืนยันว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างค่อนข้างรัดกุม แต่ที่ถล่มอาจเป็นเหตุเฉพาะ ขอให้รอรายละเอียดอีกครั้ง
ธปท.ห่วงท่องเที่ยว-อสังหาฯหนัก
ขณะที่นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างประเมินความเสียหายจากแผ่นดินไหว ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นผลกระทบทางตรง เช่น ทรัพย์สินเสียหาย การหยุดการทำงานชั่วคราว ซึ่งต้องติดตามต่อไป รวมถึงผลกระทบด้าน ความเชื่อมั่น 3 ด้าน คือ 1.ผลกระทบภาคท่องเที่ยวที่ภาพข่าวแผ่นดินไหว ตึกถล่ม ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดหวั่น ชะลอหรือยกเลิกจองตั๋วเครื่องบินมาไทย และที่พักบ้าง แต่ยังไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งต้องเร่งเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมา
2.ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อที่พักอาศัยที่เป็นอาคารสูง ที่ประชาชนและนักลงทุนกังวลเรื่องความปลอดภัย ซึ่ง ธปท.มีความเป็นห่วง เพราะภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น และอาจซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ จึงต้องเร่งเชื่อมั่นกลับมา และสุดท้ายการใช้จ่ายประชาชนที่จะชะลอตัว แต่คาดว่าจะเป็นช่วงสั้น เพราะประชาชนต้องใช้เงินซ่อมสร้างอาคารบ้านเรือนที่เสียหาย “ธปท.จะติดตามผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบจากเรื่องอื่นด้วย เช่น นโยบายเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯที่จะประกาศวันที่ 2 เม.ย.นี้ เป็นต้น”
ขณะเดียวกันตั้งแต่วันที่ 29-30 มี.ค.68 ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคาร ทหารไทยธนชาต โดยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ของธนาคาร หรือสาขาของธนาคารได้
ท่องเที่ยวจี้ยกเลิกประกาศเขตภัยพิบัติ
ขณะเดียวกัน นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังประชุมผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า เป็นห่วงนักท่องเที่ยวในอนาคตจะชะลอเดินทางมาไทย จึงต้องรีบประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่า จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจริงๆ คือกรุงเทพฯจังหวัดเดียว จังหวัดอื่นๆยังปลอดภัยและเที่ยวได้ รวมถึงต้องติดตามการจองตั๋วเครื่องบินมาไทย และโรงแรมช่วงก่อนสงกรานต์และช่วงสงกรานต์ ขณะเดียวกัน เอกชนท่องเที่ยวเรียกร้องให้รัฐออกประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองตึก อาคาร และโรงแรมที่ตรวจสอบแล้วว่า มั่นคงแข็งแรง
นอกจากนี้ ภาคเอกชนขอให้ยกเลิกการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพราะในภาษาอังกฤษ ค่อนข้างรุนแรง และมีผลต่อการประกันภัยของภาคท่องเที่ยว “ช่วง 2 วันที่ผ่านมามีการยกเลิกห้องพัก 1,000 กว่าห้อง ที่น่าห่วงคือ การยกเลิกตั๋วเครื่องบิน และที่เกิดวิตกมากที่สุด คือ จีน เร็วๆนี้จะหารือกับเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยว่าจะทำอย่างไร ส่วนกิจกรรมสงกรานต์ยังเดินหน้าต่อ”
ส่วนนายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยและต่างชาติ อย่าให้ตื่นตระหนก เพราะทำให้คนที่จองมาเที่ยวไทยล่วงหน้า กังวลว่ายังจะมาได้อีกหรือไม่ ส่วนนักท่องเที่ยวขาเข้าผ่านบริษัททัวร์ ปกติมีวันละ 8,000 คน ขณะนี้หายไป 30% เหลือ 6,000 คนต่อวัน สิ่งที่ต้องจับตา คือ ช่วงสงกรานต์จะหายไปหรือไม่ เฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหายไปแน่ 20% เทียบกับสงกรานต์ปีก่อน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม