บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ นับเป็นกลุ่มธุรกิจผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 4 ล้านตันต่อปี และมีธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจท่าเรือ และธุรกิจวิศวกรรม มีนายวิน วิริยประไพกิจ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และนายนาวา จันทนสุรคน เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
สำหรับโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนของเอสเอสไอมีกำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่ 4 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยมุ่งผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนที่มีมาตรฐานสูง ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากลทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการหลากหลายแบบของกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ
ทั้งนี้ เอสเอสไอได้ลงทุนเพิ่มเติมในโครงการเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนประเภทล้างผิวและเคลือบน้ำมันด้วยกำลังการผลิตสูงสุด 1,000,000 ตันต่อปี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตเดียวกันกับโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
สำหรับในส่วนของธุรกิจท่าเรือ มีนายจิร โชตินุชิต เป็น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด หรือ PPC อันเป็นบริษัทในกลุ่มเหล็กสหวิริยา ล่าสุด ได้จัดทัพรับกลยุทธ์ “บลูพอร์ต” ขนถ่ายสินค้า–บริการนอกชายฝั่ง–สิ่งแวดล้อม
นายจิรกล่าวว่า “ท่าเรือประจวบ” เป็นท่าเทียบเรือพาณิชย์สากล ตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพาน และเป็นท่าเรือสินค้าเอกชนแห่งเดียวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอ่าวไทยฝั่งตะวันตกและประเทศ ด้วยขนาดหน้าท่าที่มีความลึกจากระดับน้ำทะเลปานกลางถึง 15 เมตร (MSL) สามารถรองรับเรือที่มีขนาดสูงสุด 110,000 เดทเวทตัน (DWT) โดยถูกออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติของท้องทะเล มีเขื่อนกันคลื่น (Break Water) ทำหน้าที่รับแรงปะทะของคลื่นลม ทำให้เรือสามารถจอดและทำงานได้อย่างปลอดภัย
โดยในปี 2568 “ท่าเรือประจวบ” ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจโดยเน้นเป้าหมายเรื่องการขยายธุรกิจให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการให้บริการธุรกิจกลุ่มธุรกิจเหล็กสหวิริยา ซึ่งเป็นลูกค้าหลักและลูกค้ารายใหญ่ที่ได้ไว้วางใจใช้บริการท่าเรือด้วยดีเสมอมา รวมถึงแผนการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นโอกาสสร้างผลกำไรให้แก่บริษัทซึ่งส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทที่มั่นคงในระยะยาว
บริษัทได้ประกาศวิสัยทัศน์ “ประตูสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” หรือ “BLUE ECONOMY” พร้อมกลยุทธ์ที่จะขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจประจำปี 2568 ที่สำคัญ 4 ด้าน
ประกอบด้วย 1.การขนส่งสินค้า 2.กิจกรรมนอกชายฝั่ง 3.การ จัดการบริหารของเสีย และ 4.ด้านการรักษาระบบนิเวศทางทะเลเพื่อการเติบโตและความยั่งยืนที่สมดุลทางธุรกิจและทางทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว บริษัทได้จัดโครงสร้างและขยายธุรกิจเป็น 3 หน่วยธุรกิจ
ประกอบด้วย 1.หน่วยธุรกิจด้านการขนถ่ายสีน้ำเงิน (Blue Transport) 2.หน่วยธุรกิจด้านการบริการนอกชายฝั่งทะเล (Blue Offshore) และ 3.หน่วยธุรกิจด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลสีน้ำเงิน (Blue Conservation) เพื่อรองรับกิจกรรมขนส่งและธุรกิจที่จะเกิดขึ้นบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งทะเล ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆเท่านั้น แต่ต้องการย้ำจุดยืนของท่าเรือในการให้บริการที่เป็นสีน้ำเงิน (Blue Port) อีกด้วย
“ท่าเรือประจวบจะเดินหน้าใช้ศักยภาพและความพร้อมของท่าเรือมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบนชายฝั่งและนอกชายฝั่งที่สามารถใช้ท่าเรือประจวบและพื้นที่หลังท่าเรือประจวบเป็นพื้นฐานหลัก ทั้งการบริการขนถ่าย ฝากเก็บ และการให้บริการขนส่งทางทะเลด้านอื่นๆที่รวดเร็วและมีคุณภาพ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า ทั้งนี้ บริษัทมุ่งหวังในการเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจทั้งธุรกิจขนถ่ายสินค้าปกติและธุรกิจใหม่ๆในด้านการขนส่งสินค้า ด้านกิจกรรมนอกชายฝั่ง ด้านการจัดการบริหารของเสีย และด้านการรักษาระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการเติบโตและความยั่งยืนที่สมดุล ทางธุรกิจและทางทะเล แต่ไม่ละทิ้งความใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของท่าเรือ อันเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสีน้ำเงิน BLUE ECONOMY”
นายจิรกล่าวย้ำว่า สำหรับ Blue Economy หรือ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” คือ แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นเสื่อมสภาพหรือลดลง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในระยะยาวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การประมง, การ ท่องเที่ยวทางทะเล, การผลิตพลังงานจากทะเล (เช่น พลังงานลมในทะเลหรือพลังงานคลื่น), การขนส่งทางทะเล และการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล เป็นต้น
“จุดมุ่งหมายหลักของ Blue Economy คือการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ยั่งยืนทั้งทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว”.
เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ
คลิกอ่านคอลัมน์ “The Issue” เพิ่มเติม