Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

จบแล้ว! บอร์ด รฟท.ไฟเขียวแก้สัญญาซีพี รถไฟเชื่อม 3 สนามบินวิ่งฉิว

Date Time: 28 มี.ค. 2568 09:30 น.

Summary

  • บอร์ด รฟท.ไฟเขียว แก้ไขร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมส่งเรื่องให้ กพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายละเอียด ก่อนชง ครม. เคาะ คาดลงนามสัญญา มิ.ย.68 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ปี 73

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) ฉบับแก้ไข ตามหลักการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยหลังจากนี้ รฟท. จะส่งร่างสัญญาดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกำกับ ก่อนส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด และส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ก่อนเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หาก ครม. เห็นชอบจะสามารถลงนามร่างสัญญาฯ ระหว่าง รฟท. และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ซี.พี. ได้ประมาณเดือน มิ.ย.68 และจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) แก่ผู้รับจ้างทันที โดยผู้รับจ้างต้องเริ่มงานภายใน 30 วัน เบื้องต้นงานก่อสร้างจะเริ่มพร้อมกันตลอดทั้งเส้นทาง โดยการก่อสร้างทั้งหมดจะใช้เวลา 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ปี 73

นายอนันต์กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขสัญญานั้น เป็นไปตามมติ กพอ. เมื่อเดือน ม.ค.68 ที่ให้ รฟท. แก้ไขตามหลักการของบอร์ด กพอ. ใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.วิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุน จากเดิมสร้างเสร็จแล้วรัฐค่อยจ่ายปรับเป็นการจ่ายไปสร้างไป แต่เอกชนต้องวางหลักประกันเพิ่มจากสัญญาเดิม 4 ส่วน รวมประมาณ 1.52 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่รัฐร่วมลงทุนงานโยธา 1.25 แสนล้านบาท, งานระบบ 1.48 หมื่นล้านบาท, หลักประกันคุณภาพบริการ 748.25 ล้านบาท และค่าสิทธิในการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 10,671 ล้านบาท (ยังไม่รวมดอกเบี้ย) โดยหลักประกันทั้ง 4 ส่วนนี้ เอกชนต้องดำเนินการภายใน 270 วัน หลังลงนามสัญญาฉบับแก้ไข 2.การชำระค่าสิทธิให้ร่วมลงทุนในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากเดิมจ่ายก้อนเดียวทั้ง 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นแบ่งชำระ 7 งวด งวดละ 1,500 ล้านบาท โดยงวดแรกจะต้องจ่ายวันที่ลงนามสัญญาฉบับแก้ไข

3.กำหนดส่วนแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติม โดยเอกชนมีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น หากในอนาคตดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 4.การยกเว้นเงื่อนไขการออก NTP เดิมเอกชนต้องยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับเป็นให้ยกเว้นเงื่อนไขนี้ เพื่อให้ออก NTP เริ่มงานได้ทันที หลังลงนามสัญญาฯ 5.การป้องกันปัญหาในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น จากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการ โดยปรับปรุงข้อสัญญาในส่วนของเหตุสุดวิสัย และเหตุผ่อนผันให้สอดคล้องกับสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการอื่น.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)