นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. คงเดิมที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสอดคล้องกับอัตราที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอมา เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยเป็น 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน
โดยก่อนหน้านี้ กกพ.ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟที งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 11-24 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็น 33 ความเห็น โดยสามารถสรุปผล โดยเห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 137.39 สตางค์ต่อหน่วย) 21% เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 116.37 สตางค์ต่อหน่วย) 18% เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 36.72 สตางค์ต่อหน่วย) 49%
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียดายที่ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน จากการที่ภาครัฐยังคงอัตราไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนเฉลี่ยเดือน พ.ค.-ส.ค. อยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย โดยไม่สามารถปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม 3.70 บาท/หน่วยได้ตามที่ภาคเอกชนเรียกร้องมาโดยตลอด ทำให้คนไทยต้องใช้ไฟฟ้าแพงต่อไปอีก 4 เดือน ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาหลากหลายแนวทาง และวิธีการคำนวณค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ให้สามารถปรับลดลงได้โดยเร็วที่สุด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพิจารณา
ในวันเดียวกัน ธนาคารโลกและกรุงเทพมหานครได้ร่วมกันออกรายงานการศึกษาเรื่อง “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” ระบุว่า กรุงเทพฯจะประสบปัญหาความร้อนในเมืองที่รุนแรงและยาวนานขึ้น และหากไม่มีมาตรการรับมือที่เพียงพอ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียสอาจทำให้กรุงเทพฯ เผชิญกับการเสียชีวิตจากความร้อนกว่า 2,300 ราย สูญเสียค่าจ้างแรงงานกว่า 44,000 ล้านบาท และค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 17,000 ล้านบาทต่อปี โดยภายในปี พ.ศ.2593 อุณหภูมิที่อันตรายอาจทำให้ไม่สามารถทำงานกลางแจ้งได้
“ความร้อนในเมืองไม่ใช่แค่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” เมลินดา กูด ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าว.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่