Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

ไทยพาณิชย์เปิด “4 แผลเป็นโควิด”  กดเศรษฐกิจไทยโตช้าสุด! รั้งท้ายประเทศทั่วโลก

Date Time: 19 มี.ค. 2568 09:20 น.

Summary

  • ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์เปิด 4 “แผลเป็นโควิด” กดเศรษฐกิจไทยโตช้าสุดรั้งท้ายโลก ประเมินจีดีพีไทยปีนี้โตแค่ 2.4% ส่งออกโต 1.6% ภาพรวมเศรษฐกิจยังโตช้า พร้อมคาด กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ส่วนข้อเสนอให้ซื้อหนี้ประชาชนต้องดูแหล่งเงินทุนว่ามาจากที่ไหน และไม่กระทบวินัยการเงิน ชี้แก้หนี้ได้ยั่งยืน ต้องเพิ่มรายได้ของประชาชนด้วย

นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC ยังคงมุมมองต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 68 ขยายตัวได้ 2.4% ลดลงจากปี 67 ที่อยู่ 2.5% โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มโดยเฉพาะโครงการ 10,000 บาทเฟสที่เหลือ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่จะขยายตัวจากมาตรการเร่งเบิกจ่าย

อย่างไรก็ตาม ผลกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้เงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากน้อยแค่ไหน สําหรับนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน เศรษฐกิจจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้าทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะหลายปีที่ผ่านมา การส่งออกของไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯมากขึ้น พร้อมกับการนำเข้าสินค้าจากจีนมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกของไทยปี 68 จะเติบโตที่ 1.6% ลดลงจากปี 67 ที่ 5.8% สอดคล้องกับภาคการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดย เฉพาะสินค้าทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจจีนเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมการย้ายฐานมาเพื่อผลิตแล้วส่งออกไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นการเข้ามาขายแข่งในตลาดไทย

SCB EIC ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก สะท้อนอาการ “แผลเป็นโควิด” ซ้ำเติมด้วยปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมที่ยังไม่ได้แก้ไขใน 4 ด้าน ดังนี้ 1.แผลเป็นของภาคธุรกิจจากรายได้ธุรกิจฟื้นแบบ K-Shape สัดส่วนจำนวนบริษัทซอมบี้ หรือบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น สูงขึ้นกว่าช่วงโควิด โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก 2.แผลเป็นตลาดแรงงาน แม้ภาพรวมการจ้างงานดีขึ้นต่อเนื่อง แต่คุณภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับแย่ลง แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับรายได้ต่ำกว่าแรงงานในระบบเกือบเท่าตัว 3.แผลเป็นหนี้ภาคครัวเรือน สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อใหม่หดตัว และรายได้ฟื้นช้า ซึ่งกดดันการบริโภค และ 4.แผลเป็นภาคการคลังเห็นได้จากหนี้สาธารณะสูงขึ้นมากเทียบก่อนโควิด และจะเข้าใกล้เพดานหนี้ 70% ในอีกไม่กี่ปี แม้ว่ารัฐบาลจะขาดดุลสูงในปีงบประมาณ 68 นี้ แต่กรอบงบประมาณเริ่มสะท้อนข้อจำกัดการคลังในระยะปานกลางมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำในระยะต่อไป

“แผลเป็นเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อจีดีพีของไทย โดยจีดีพีไทยปี 67 ฟื้นตัวเท่ากับช่วงโควิด หรือต้องใช้เวลา 4 ปีถึงกลับมาเท่าเดิม ซึ่งถือว่ากลับมาโตช้าสุดท้ายๆของโลก”

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุถึงนโยบายการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคาร เพื่อทำให้หนี้สินคนไทยหมดไปนั้น นายยรรยงกล่าวว่า แนวทางที่ได้เสนอให้ตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน ขณะนี้อาจยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เนื่องจากยังไม่รู้แนวทาง และหลักการที่ชัดเจน แต่การแก้หนี้ได้ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ของประชาชนด้วย และภาคธนาคารพยายามประคับประคองลูกหนี้ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” โดยปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับความสามารถของลูกค้า ทั้งนี้ การรับซื้อหนี้จะต้องมอง 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ที่มาของแหล่งเงินทุน เพราะจะเป็นภาระทางการคลัง 2.เรื่อง Moral Hazard หรือวินัยทางการเงิน โดยจะต้องชั่งน้ำหนักประเด็นนี้ให้เหมาะสม

สำหรับนโยบายการเงิน SCB EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปี 68 ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. 1 ครั้ง และครึ่งปีหลังอีก 1 ครั้ง ทำให้สิ้นปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.5% จากปัจจุบัน 2% สาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ภาวะการเงินยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูง สถาบันการเงินระวังการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ขณะที่การขายหุ้นกู้ของธุรกิจที่มีอันดับเครดิตไม่สูงเริ่มมีต้นทุนการเงินสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วเทียบภูมิภาคช่วงที่ผ่านมา 2.เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ การผ่อนคลายนโยบายการเงินจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)