ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้จากภาษีการรับมรดก หลังจากมีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันของกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม และประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายด้วย
ทั้งนี้ จากที่กรมสรรพากรได้เริ่มจัดเก็บภาษีการรับมรดกในช่วง 10 ปี สามารถจัดเก็บได้ราว 4,000 ล้านบาท แต่ประเด็นที่น่าสนใจและเป็นที่สังเกต เนื่องจากในช่วง 3 เดือนของปีงบ 68 (ต.ค.67-ม.ค.68) สามารถจัดเก็บได้ 637 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการโอนมรดกมากขึ้น ซึ่งตามสถิติการจัดเก็บรายได้ภาษีการรับมรดก 5 ปี ย้อนหลัง สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 67 จัดเก็บได้ 1,536 ล้านบาท, ปี 66 จัดเก็บได้ 741 ล้านบาท, ปี 65 จัดเก็บได้ 474 ล้านบาท, ปี 64 จัดเก็บได้ 409 ล้านบาท, ปี 63 จัดเก็บได้ 159 ล้านบาท
สำหรับอัตราภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีการรับมรดก ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณและเสียภาษีในอัตรา 10% ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่ามรดกสุทธิที่ต้องเสียภาษี
ส่วนทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก มีดังต่อไปนี้ 1.อสังหาริมทรัพย์ 2.หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย ที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4.ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า “มรดก” ในกฎหมายภาษีการรับมรดก มิได้มีการกำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “มรดก” ตามมาตรา 1,599 มาตรา 1,600 และมาตรา 1,601 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้วางหลักไว้ว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาท และทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ทั้งนี้ กองมรดกของผู้ตาย ได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่างๆด้วย ซึ่งทายาทของผู้ตายต้องรับสืบทอดไปทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ตาย อย่างไรก็ดี ทายาทอาจจะต้องรับผิดไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา กองมรดกของผู้ตายย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม
1.ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ได้แก่ ผู้สืบสันดาน (คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่) บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลำดับที่กฎหมายกำหนดไว้
2.ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม ได้แก่ ผู้รับพินัยกรรม ภาษีการรับมรดกจึงเกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และทายาทผู้รับมรดกได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ตามที่กฎหมายกำหนด.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่