2 เมษายน 2568 ดีเดย์ จับตา “ทรัมป์” ประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ขึ้นภาษีทุกประเทศคู่ค้าอย่างเท่าเทียม อัตราภาษีพิจารณารายประเทศ ถูกเรียกเก็บเท่าไร ขึ้นภาษีกลับไปเท่ากัน ตามคอนเซ็ปต์ วันปลดแอกประเทศ (Liberation Day) ทวงคืนอำนาจการค้า ปลุกผีสหรัฐฯ เป็นฐานการผลิตโลก โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์จะเปิดเผยแผน “วันปลดแอก” ที่สวนกุหลาบทำเนียบขาวในวันพุธที่ 2 เม.ย. เวลา 16.00 น. ตามเวลาสหรัฐฯ หรือประมาณตี 3 ของวันที่ 3 เม.ย. ตามเวลาประเทศไทย
Thairath Money พาส่องแนวทางใช้แผนภาษีตอบโต้ของทรัมป์ มีโอกาสทำจริงตามที่พูดแค่ไหน ประเทศอาเซียน เอเชีย ยุโรป เตรียมรับมืออย่างไรบ้าง
แม้ทรัมป์จะยืนกรานในจุดยืนที่จะใช้มาตรการภาษีตอบโต้คู่ค้าทุกประเทศ ไม่มีข้อยกเว้น โดยจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้า ให้เท่าเทียมกับที่ประเทศคู่ค้า เรียกเก็บจากสหรัฐฯ โดยพิจารณาอัตราภาษีเป็นรายประเทศไป ท่ามกลางท่าทีที่แข็งกร้าวของทรัมป์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าและความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นักเศรษฐศาสตร์ คาดว่า ในวันที่ 2 เม.ย.ทรัมป์จะยังไม่ประกาศขึ้นภาษีรายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สหรัฐฯ ให้การส่งเสริม เช่น เซมิคอนดักเตอร์และรถยนต์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า ภาษีที่จะเรียกเก็บเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงการวางแผนและอาจมีเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ซึ่งเป็นข้อบังคับเข้มงวดเพื่อกีดกันการค้ากับประเทศคู่ค้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม คาดว่าจะยังไม่ถูกประกาศบังคับใช้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาจส่งผลให้สินค้าสหรัฐฯ ที่ส่งออกไปต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น
ก่อนที่จะถึงวันประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 เม.ย.ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งบริหาร ขึ้นภาษีศุลกากรนำร่องสินค้าบางประเภทกับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน แคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป โดยใช้ข้ออ้างด้านความมั่นคง เช่น ปัญหาการลักลอบขนยาเสพติด คนอพยพผิดกฎหมาย มาเปิดโต๊ะเจรจาผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่เฉย ยอมเป็นลูกไก่ในกำมือสหรัฐฯ ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าบางประเภทที่นำเข้าจากสหรัฐฯ
แต่ส่วนใหญ่เป็นการตอบโต้เพื่อดูเชิง เปิดทางไปสู่การเจรจาประนีประนอม ด้านทรัมป์เองก็มีการระงับคำสั่ง เลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีไปหลายรอบ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ทรัมป์กล่าวว่า มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้โอกาสกับหลายประเทศ แสดงให้เห็นถึงความลังเล ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า อัตราการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ อาจไม่ได้รุนแรงเท่ากับอัตราภาษีที่สหรัฐฯ ถูกเรียกเก็บจากหลายประเทศ
ทั้งนี้วันที่ 2 เม.ย.การยกเว้นภาษีศุลกากรชั่วคราว 25% สำหรับสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี “USMCA” ระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก แคนาดา จะสิ้นสุดลง
เวียดนามถือเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนมากถึง 85% ของ GDP และมีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายสำคัญ และขาดดุลกับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสามรองจากจีนและเม็กซิโก จึงมีความเสี่ยงที่จะโดนมาตรการภาษีตอบโต้อย่างรุนแรงในวันที่ 2 เม.ย.เนื่องจากอาจเป็นประเทศที่สหรัฐฯ จัดไว้ในกลุ่ม Dirty 15 ที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากที่สุด ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หลายประเภท รวมถึงรถยนต์ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LPG)
โดยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2568 รถยนต์บางประเภทจะถูกเก็บภาษีลดลง เหลือ 32% จากอัตราภาษีเดิม 64% ส่วนก๊าซ LPG จะถูกเก็บภาษี 2% จากอัตราภาษีเดิมที่ 5% นอกจากนี้ ไม้ เอธานอล ขาไก่แช่แข็ง พิสตาชิโอ อัลมอนด์ แอปเปิลสด เชอร์รี่ ลูกเกด ก็จะได้รับการลดภาษีด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้การประกาศดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรี Pham Minh Chinh กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า กำลังทบทวนการจัดเก็บภาษีเพื่อส่งเสริมการนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับต้นๆ เสี่ยงโดนหมายหัวจัดอยู่ในกลุ่ม Dirty 15 ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการขึ้นภาษี โดยสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด เนื่องจากนำเข้า เสื้อผ้า เครื่องจักร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมาก ด้านญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐฯ มากที่สุด เพื่อรองรับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสามประเทศได้จัดการเจรจาเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกและยกระดับความร่วมมือการค้าในภูมิภาคและระดับโลก ด้วยการสร้างกรอบการทำงานร่วมกันทางการค้าระหว่างทั้งสามประเทศ ผ่านการเจรจา FTA เกาหลี-จีน-ญี่ปุ่น
โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะพิจารณาการนำเข้าวัตถุดิบเซมิคอนดักเตอร์จากจีน ส่วนจีนแสดงความสนใจที่จะซื้อชิปจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้งสามฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานและจะมีการเจรจาร่วมกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับการควบคุมการส่งออก
ด้านสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสอง รองจากจีน และเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงมาอย่างยาวนาน ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ประกาศเตือนสหรัฐฯ ว่ายุโรปเตรียมแผนที่จะตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์แล้ว หากจำเป็น แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดของแผนดังกล่าว อย่างไรก็ตามยุโรปยังเปิดกว้างในการเจรจา
“เราจะเจรจาด้วยการใช้จุดแข็ง ยุโรปมีไพ่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า เทคโนโลยี หรือขนาดของตลาด” เธอกล่าวต่อ “แต่จุดแข็งนี้ยังสร้างขึ้นจากความพร้อมของเราที่จะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดขาดหากจำเป็น”
ก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค.สหภาพยุโรปตอบโต้การขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของทรัมป์ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มูลค่าสูงถึง 26,000 ล้านยูโร (9.5 แสนล้านบาท) รวมถึงภาษีเรือ เบอร์เบิน และจักรยานยนต์
ที่มา: