ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินสถานการณ์หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมประกาศยกระดับสงครามการค้า ด้วยการเรียกเก็บภาษีต่างตอบแทนหรือแบบตอบโต้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าหรือใช้นโยบายกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีกับสหรัฐฯ คาดว่าจะเริ่มใช้ 2 เม.ย.นี้
ทั้งนี้ จากการประเมินความเสี่ยงพบว่า ไทยมีโอกาสสูงที่จะถูกสหรัฐฯตรวจสอบในประเด็นที่อาจเข้าข่ายกรณีการค้าที่ไม่เป็นธรรม จากการที่ไทยมีดุลการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯระดับสูง รวมถึงการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯในอัตราสูง ซึ่งภาคส่งออกมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ดังนี้ 1.การถูกสหรัฐฯเพ่งเล็งเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดขาดดุลการค้า โดยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย โดยปี 67 ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯสูงเป็นอันดับที่ 11 สินค้าไทยที่เสี่ยงถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นคือ กลุ่มที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯต่อเนื่อง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แผงโซลาร์ ยางรถยนต์ หม้อแปลงไฟฟ้า วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ รวมถึงสินค้าเกษตร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อาหาร
2.ไทยมีมาตรการควบคุมการนำเข้าและมาตรฐานด้านความปลอดภัย อาจถูกสหรัฐฯมองว่าเป็นการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกสหรัฐฯใช้มาตรการทางภาษีแบบตอบโต้ นอกจากนี้ ไทยอาจถูกบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) ในระดับเข้มข้นขึ้น 3.ไทยยังอาจถูกจับตามองในฐานะประเทศที่ถูกใช้เป็นทางผ่านสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ ขณะที่ขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้น ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มที่ไทยนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ทำให้สินค้าไทยเสี่ยงถูกมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติม ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น จากการต้องพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า และส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้การลงทุนจากจีนชะลอตัวหรือย้ายฐานไปประเทศอื่น 4.บริษัทสัญชาติสหรัฐฯที่ย้ายฐานผลิตมาไทย อาจถูกจับตาเนื่องจากการย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯและส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐฯจำนวนมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาจทำให้สหรัฐฯยกเลิกหรือลดการให้ผลประโยชน์กับบริษัท เพื่อดึงดูดการลงทุนให้กลับไปสหรัฐฯ
สำหรับแนวทางการรับมือ ได้วางกลยุทธ์การเจรจาการค้ากับสหรัฐฯในลักษณะต่างตอบแทน ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เช่น นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น โดยเน้นสินค้าที่ไทยและสหรัฐฯต่างได้ประโยชน์และเป็นห่วงโซ่การผลิตซึ่งกันและกันได้ พร้อมเตรียมแนวทางรองรับกรณีที่สหรัฐฯ อาจผลักดันให้ไทยนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บภาษีนำเข้าสูงหรือยังไม่ได้เปิดตลาดกับสหรัฐฯ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งต้องคำนึงผลกระทบต่อเกษตรกรและตลาดในประเทศ รวมทั้งหาวิธีตรวจสอบพิสูจน์แหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สหรัฐฯ กรณีสินค้าที่มีความเชื่อมโยงกับจีน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่