Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

Fed คงดอกเบี้ย 4.25% มั่นใจ “เศรษฐกิจสหรัฐ” ไม่ถดถอย แต่หั่น GDP ปี 2025 เหลือแค่ 1.7%

Date Time: 20 มี.ค. 2568 09:58 น.

Summary

  • เฟดคงดอกเบี้ยตามคาด 4.25-4.50% มั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐยังแกร่ง ไร้สัญญาณถดถอย หวั่นเงินเฟ้อดื้อลงช้า เพราะมาตรการภาษีทรัมป์ หั่น GDP ปี 2025 เหลือ 1.7%

วันที่ 19 มี.ค. (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25 -4.50% หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้งในการประชุมปี 2024 ที่ผ่านมา

โดยตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และสภาพตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง อัตราเงินเฟ้อยังคงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น

คณะกรรมการฯ พยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว เพื่อจัดสมดุลความเสี่ยงทั้งสองด้าน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้อัปเดตคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) คณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าสิ้นปี 2025 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 3.90% ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยสองครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ในเดือนธันวาคม ปี 2024 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีมุมมอง Hawkish (สายเหยี่ยว) มากขึ้น โดย 4 เสียงมองว่าในปีนี้เฟดอาจไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยเลย เพิ่มขึ้นจาก 1 เสียงในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ เฟดยังได้ปรับลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ปี 2025 เหลือเพียง 1.7% จาก 2.1% ในเดือนธันวาคม และเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% สำหรับปี 2026 และ 2027 ขณะเดียวกันก็ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ (PCE) ปี 2025 เป็น 2.7% จาก 2.5% ในเดือนธันวาคม เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จาก 4.3% ในเดือนธันวาคม

ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้า ทำเงินเฟ้อดื้อ

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมดอกเบี้ยนโยบาย "เจอโรม พาวเวล" ประธานเฟด ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในงานแถลงข่าวถึงผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ โดยเฟดมองว่ามาตรการภาษีศุลกากร (ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้านำเข้า) จะกดดันให้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น สะท้อนจากคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นที่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่ามาตรการภาษีศุลกากรเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

“เมื่อมองไปข้างหน้า รัฐบาลกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญในสี่ด้านที่แตกต่างกัน ได้แก่ การค้า การย้ายถิ่นฐาน นโยบายการคลัง และการยกเลิกกฎระเบียบ ซึ่งผลกระทบโดยรวมของนโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและแนวทางของนโยบายการเงิน” พาวเวลกล่าวเสริม

แม้เฟดจะยืนยันว่าเงินเฟ้อกำลังเข้าใกล้กรอบเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน พาวเวลก็ยอมรับว่ามาตรการภาษีศุลกากรอาจทำให้กระบวนการดังกล่าวล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม เฟดคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงในปี 2026 และ 2027 ที่ระดับ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ แม้ว่าคาดการณ์ดังกล่าวจะมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ตาม พาวเวลมองว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้

ชะลอ QT รับมือเศรษฐกิจไม่แน่นอน

นอกจากนี้ เฟดยังได้ชะลอการลดขนาดงบดุล (Quantitative tightening: QT) ด้วยการทยอยลดการถือครองพันธบัตร โดยจะอนุญาตให้มีการไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ลดลงจากระดับ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ยังคงเพดานการไถ่ถอนหลักทรัพย์ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) ที่ระดับ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Jamie Cox ผู้จัดการหุ้นส่วนของ Harris Financial Group ให้ความเห็นว่า

“วันนี้เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยทางอ้อมด้วยการชะลอการลดขนาดงบดุล เฟดมีความเสี่ยงหลายอย่างที่ต้องพิจารณาให้สมดุล และการชะลอลดการถือครองพันธบัตรนั้นเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ง่ายที่สุด การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้เฟดไม่ต้องลดขนาดงบดุลในช่วงฤดูร้อน และหากโชคดี ข้อมูลเงินเฟ้ออาจจะเข้ากรอบ ซึ่งจะทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นทางเลือกที่ชัดเจน"

ที่มา

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)