ฟังเสียง 3 ซีอีโอ "แบงก์รัฐ" กับบทบาทโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฟังเสียง 3 ซีอีโอ "แบงก์รัฐ" กับบทบาทโอบอุ้มเศรษฐกิจไทย

Date Time: 3 มิ.ย. 2567 06:40 น.

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความพยายามในการโน้มน้าวให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังไม่สัมฤทธิผล ขณะที่ยอดหนี้ครัวเรือนของประเทศขยับสู่ระดับ 16.36 ล้านล้านบาท คิดเป็น 91.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แล้วนั้น

สถาบันการเงินของรัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เป็นเครื่องจักรขับเคลื่อน โอบอุ้มคนตกทุกข์ได้ยาก แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ สร้างโอกาสใหม่ๆให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

เราจึงได้เห็นสถาบันการเงินของรัฐขยันออกมาตรการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนนำร่องปรับลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก่อนที่ธนาคารพาณิชย์ที่เหลือจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตาม

เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงบทบาท หน้าที่ของสถาบันการเงินภาครัฐในยามที่การบริโภคภายในประเทศจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นอย่างเต็มกำลัง “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้สัมภาษณ์ 3 ซีอีโอธนาคารรัฐรายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อฉายภาพการทำงานสนองนโยบายรัฐบาล ดังต่อไปนี้


วิทัย รัตนากร
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสินเปลี่ยนบทบาทมาเป็นธนาคารเพื่อสังคม ช่วยคนให้เข้าถึงแหล่งทุน มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นอกจากบริการรับฝาก-ถอนเงินแล้ว ยังดำเนินภารกิจ 3 ประการ ได้แก่ 1.ดึงคนเข้าสู่ระบบการเงิน กู้เงินจากสถาบันการเงิน ลดการกู้นอกระบบ 2.แก้หนี้คนฐานราก เพราะเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ เข้าไปช่วยเหลือลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ขยายเวลาการผ่อนชำระ ลดจำนวนเงินในการผ่อนชำระแต่ละเดือน 3.พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการสร้างงาน สร้างอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ๆ

“การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลหรือการมาของรัฐบาลชุดใหม่ ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือทำให้บริหารงานยากขึ้น นโยบายของรัฐบาลทุกชุดคือต้องการช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว เช่นเดียวกับธนาคารออมสินที่ต้องช่วยเหลือคนที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ช่วยเขาสร้างโอกาสทำให้ชีวิตดีขึ้น เพียงแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญในการแก้หนี้ครัวเรือน ยิ่งทำให้ออมสินต้องเร่งดำเนินการ”

ในช่วงครึ่งปีหลัง จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของธนาคารออมสินมากขึ้น มีการเปิดบริษัทในเครือเพิ่มเติม จนกลายเป็นกลุ่มธนาคารออมสิน ได้แก่ บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ได้เข้าถึงแหล่งทุน บริษัท เงินดีดี จำกัด สามารถปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกัน ลักษณะฟิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเร็วๆนี้

การตั้งบริษัทลูกขึ้นมา จะช่วยสร้างความคล่องตัวในการให้สินเชื่อ ที่ต้องแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นๆ และหนี้นอกระบบ ซึ่งตามนโยบายจะให้บริการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด เพื่อเป็นกลไกให้ดอกเบี้ยในตลาดถูกลง เช่น อัตราดอกเบี้ยปล่อยกู้ที่ดินเปล่า 33% ธนาคารออมสินจะคิดอัตราดอกเบี้ย 25% หรือแบ่งเกณฑ์กรณีมีความเสี่ยงสูง 26-30% มีความเสี่ยงต่ำ 18-20%

นอกจากนั้น ยังมีโครงการปลดหนี้โควิดให้ลูกหนี้ 800,000 ราย ที่ค้างชำระต่อราย 3,000-5,000 บาท ใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยลูกหนี้ 800,000 รายได้เข้าถึงโอกาสใหม่ เพราะไม่ต้องติดบัญชีเครดิตบูโร

ดังนั้นการจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ จำกัด จึงตอบโจทย์ที่จะช่วยลูกหนี้ที่ติดหนี้เสียให้มีโอกาสหลุดพ้นจากบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) ของเครดิตบูโร เพราะหากติดเครดิตบูโร ต้องใช้เวลา 8 ปีกว่าจะหลุดพ้น ทำให้ไม่สามารถยื่นกู้สินเชื่อใดๆได้ ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมลูกหนี้

นอกจากนั้นยังจะมีการตั้งบริษัทใหม่ด้านไอที เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างเงินเดือน ทำให้ไม่สามารถจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีได้ เพราะมีค่าจ้างที่สูงมาก ขณะที่ธนาคารออมสินมีลูกค้าที่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน MyMo จำนวน 14 ล้านราย จึงต้องมีระบบไอทีที่พร้อมและทันสมัย รองรับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆตลอดเวลา

“การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มุ่งหวังกำไรแต่มุ่งเป้าช่วยเหลือคน ตอบแทนสังคม และยกระดับขีดความสามารถของธนาคารออมสินด้วย เป็นการวางแผนระยะยาวให้องค์กร เพราะธุรกิจการเงิน นวัตกรรมการเงินมีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว”

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มองว่าดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เนื่องจากเม็ดเงินงบประมาณปี 2567 เริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว อีกทั้งรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวมีความคึกคัก จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น.


ฉัตรชัย ศิริไล
ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

อยากให้ทุกคนเข้าใจบริบทของ ธ.ก.ส. การทุ่มเททำงานตามนโยบายรัฐบาล ไม่ได้ยากหรือง่าย สิ่งที่ยากคือ เมื่อทำตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ไม่ถูกนำมาวัดผล performance หรือประเมินผลตามกรอบของกระทรวงการคลัง รวมถึงสาธารณชน

ยกตัวอย่างมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรล่าสุด เมื่อประกาศมาตรการออกไป มีลูกค้าเข้าข่ายร่วมโครงการ 2.1 ล้านคน วงเงินสินเชื่อ 286,000 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ต้องทุ่มเทสรรพกำลัง เร่งทำงานภายในระยะเวลา 4 เดือน เพื่อให้ลูกหนี้ได้พักหนี้ ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย

แต่เมื่อมีการวัดผลการทำงาน ไม่ได้นำผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลมาคำนวณฐานะทางการเงิน บางครั้งทำให้ยอดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของ ธ.ก.ส. เพิ่มสูงขึ้น เพราะมีหลายโครงการที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล จึงอยากให้หน่วยงานที่วัดผลการดำเนินการเข้าใจบริบท ธ.ก.ส.ด้วย

“ความยากคือคนไม่เข้าใจ ธ.ก.ส.มีการทำงานกว้างมาก เป็นเครื่องมือรัฐในการช่วยคนหนาวก็ช่วย แล้งก็ต้องช่วย ฝนตกน้ำท่วมก็ช่วยหมด ลูกหนี้ ธ.ก.ส.เป็นกลุ่มเปราะบาง รายได้ขึ้นอยู่กับพืชผล สภาพอากาศ ยกตัวอย่าง กู้เงิน ธ.ก.ส.ไปปลูกผัก-ผลไม้ชนิดหนึ่ง แต่เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยวเจอพายุลูกเห็บ ผลผลิตเสียหาย ขายไม่ได้ ไม่มีเงินมาชำระหนี้ เมื่อกลับมาปลูกใหม่ ต้องกู้เพิ่ม ธ.ก.ส.ก็ต้องปล่อยกู้ให้ จนเกิดเป็นหนี้สะสม”

ส่วนนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ถึงแม้ ธ.ก.ส.จะได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ แต่กระทรวงการคลังจะต้องถามความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่า ธ.ก.ส.ทำได้หรือไม่ได้ และถ้าทำได้ ทำได้แค่ไหน โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษารายละเอียดตาม พ.ร.บ.ธ.ก.ส.ด้วย

บทบาทของ ธ.ก.ส.จากนี้ไป จะพยายามให้ความรู้เกษตรกร ผ่านการนำเกษตรกรหัวขบวน ที่ประสบความสำเร็จ เป็นคนชักชวนเสนอแนะวิธีทำเกษตรกรรมใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีปลูก

“ทุกวันนี้เกษตรกรเข้าใจว่า ปลูกอะไรก็จะมีพ่อค้าคนกลางหรือ “ล้ง” มาซื้อถึงที่ และยังยึดวิธีเดิมๆ เช่น ปลูกผัก เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จ พักดิน 1 เดือน แล้วกลับมาปลูกใหม่ ไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์ ไม่มีการปรับปรุงดิน คิดว่าวิธีนี้ใช้มานานแล้วยังใช้ได้อยู่ เมื่อใดที่เห็น
พืชผลไหนราคาดี ราคาพุ่ง ก็จะแห่กันปลูก พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวราคาจึงตกต่ำ”

“ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สามารถขายออนไลน์ได้ ทำการตลาดเองได้ นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความรู้เกษตรกรต้องวางแผนการผลิต เช่น ขายใคร ขายอะไร ขายที่ไหน ราคาเท่าใด จะผลิตอะไร เป็นต้น เมื่อทำแล้วต้องได้เงิน ถ้าไม่ได้เงินอย่าทำ ธ.ก.ส.จะทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ทำเกษตรแบบวางแผนแล้วมีเงินใช้แน่นอน”

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง มองเห็นสัญญาณฟื้นตัวดีจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ส่งผลดีต่อภาคเกษตรด้วย ขณะที่ราคาพืชผลเกษตรปีนี้ถือว่าดี ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้น เบื้องต้นน่าจะไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอน แต่จะปรับลดหรือคงไว้ต้องรอลุ้น ซึ่งภาคเกษตรจะไม่ได้รับอานิสงส์ในทันที เนื่องจากการชำระอัตราดอกเบี้ยของเกษตรกรเป็นรอบปี และ ธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว.


กมลภพ วีระพละ
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

การบริหารงานตามนโยบายรัฐบาล ไม่มีคำว่ายากหรือง่าย เพราะต้องทำตามนโยบายรัฐบาล 100% ให้ได้ แผนการทำงานต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และกระทรวงการคลัง เพราะก่อตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างครอบครัวที่อบอุ่น ดูแลกันและกัน ร่วมสร้างสังคมที่ดี

การดูแลให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเองนั้น ทำให้ ธอส.ต้องตั้งสำรองไว้สูงมาก มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และเป็นการเตรียมความพร้อม กรณีลูกค้า ธอส.ประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัว หรืออื่นๆ ธอส.จะสามารถนำเงินสำรองมาช่วยเหลือ ทั้งลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ รวมถึงการลดวงเงินการผ่อนชำระให้ด้วย

ช่วงที่ผ่านมา ธอส.ลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าลงถึง 2 ครั้ง เพื่อแบ่งเบาภาระ อัตราดอกเบี้ยสำหรับที่อยู่อาศัยของ ธอส.ถือว่าต่ำที่สุดในตลาดแล้ว ดังนั้นการสำรองเงินในระดับที่สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดถึง 158.55% คิดเป็นวงเงิน 153,182 ล้านบาทนั้น เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้นำเงินสำรองมาช่วยเหลือลูกหนี้

สำหรับคนที่ผ่อนไม่ไหว ธอส.จะให้ผ่อนได้ตามกำลังเงินที่มี ทั้งขยายระยะเวลาการผ่อน ลดวงเงินการผ่อนต่องวด ในช่วงที่ลูกค้าประสบวิกฤติทางการเงิน ค่างวดผ่อนบ้านจะเป็นภาระสุดท้าย เพราะต้องนำเงินไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ก่อน ส่วนค่าผ่อนบ้านสามารถผ่อนผันได้ 1-2 เดือน และสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้

ดังนั้น ลูกหนี้ที่มีปัญหา ขอให้มาปรึกษา ธอส.พร้อมให้ความช่วยเหลือ วางแผนการชำระเงินค่างวดผ่อนบ้านให้ใหม่ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน จะได้นำไปจับจ่ายใช้สอย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

“เป้าหมายคือพยายามทำให้ลูกค้ารักษาบ้านเอาไว้ให้ได้ เพราะบ้านสำคัญกับทุกคน การมีบ้าน ถือว่ามีทรัพย์สินที่มีค่า จึงเป็นภารกิจของ ธอส.ที่ต้องหาวิธีทำให้คนไทยมีบ้านของตัวเอง และรักษาบ้านไว้ จนถึงปัจจุบัน ธอส.ทำให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเองแล้ว 4.4 ล้านครอบครัว”

ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่มีข้อมูลทางการเงิน ธอส.จะช่วยให้คำปรึกษาผ่านโรงเรียนการเงิน ธอส. เรียนรู้การใช้แอปพลิเคชัน GHB ALL GEN เพื่อสร้างเครดิตทางการเงินให้ตัวเอง แล้วนำมาเป็นหลักฐานในการยื่นกู้สินเชื่อบ้านได้ รวมถึงการชักชวนให้ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างตามสัญญาจ้าง มายื่นกู้บ้านแทนการเช่า เปลี่ยนค่าเช่าบ้านมาเป็นค่าผ่อนบ้าน แต่ต้องยินยอมให้หักค่าผ่อนจากบัญชีเงินเดือน

เช่นลูกจ้างในสถานที่ราชการหลายแห่ง ทำงานมานาน 10 ปี ได้รับเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเช่าบ้านหรือหอพัก จึงอยากสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีบ้านเป็นของตนเอง ลูกจ้างที่มีสัญญาจ้างรายปี สามารถมาขอคำปรึกษากับ ธอส.ได้ เพื่อมีบ้านเป็นของตัวเอง

ส่วนภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ มองว่าภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มดีขึ้น ยอดการปล่อยสินเชื่อกระเตื้องขึ้น หลังจากไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ยอดการปล่อยสินเชื่อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต 2.5% ตามเป้าหมายที่สำนัก งานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดไว้.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ