นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-มี.ค. 2567) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3,946 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3,472 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 474 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 158,372 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของปีงบประมาณ 2567 ที่ กนอ.ตั้งไว้ 3,000 ไร่ ดังนั้น ทำให้เห็นถึงโอกาสของการลงทุน กนอ.จึงได้มีการตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ปีงบประมาณ 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ไร่ แต่ต้องติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของสงครามต่างๆ และความตึงเครียดของภาวะเศรษฐกิจว่าจะยืดเยื้อมากน้อยเพียงใด
เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่สร้างผลกระทบให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งการลงทุน การส่งออก รวมถึงการขนส่งด้วย แต่มั่นใจว่านักลงทุนยังเชื่อมั่นความสามารถของประเทศไทย โดยที่ผ่านมากลุ่มต่างประเทศมีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่องทั้งจีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
“กนอ.มีแผนดำเนินการเพื่อพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนอีกหลายโครงการ โดยมองไปถึงการพัฒนาพื้นที่เพิ่มรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล หรือเป็นนิคมฮาลาลและเกี่ยวข้องกับอาหารทะเล รวมถึงยังมีแผนศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และนิคมยางพาราเพิ่มเติม ขณะที่โครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ก็มีการจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับโครงการสำคัญๆตามนโยบายรัฐ-องค์กร อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือมาบตาพุด เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 14.8 ล้านตัน/ปี เอกชนร่วมลงทุนทั้งถมทะเล สร้างท่าเรือ และประกอบกิจการ ระยะเวลาดำเนินการ 35 ปี เงินลงทุน 55,400 ล้านบาท คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมูลค่า 32,000 ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ที่ 87.33%.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่