เปิดทาง "เลี่ยง" บัตรเครดิตรีดค่าธรรมเนียม 1%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดทาง "เลี่ยง" บัตรเครดิตรีดค่าธรรมเนียม 1%

Date Time: 11 มี.ค. 2567 09:33 น.

Summary

  • 1 พ.ค.2567 ผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะทำการเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” หรือ Dynamic Currency Conversion fee (DCC fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายและยอดกดเงินสดผ่านตู้ ATM ในสกุลเงินบาท “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขออาสาเปิดมุมมอง เหตุผลการจัดเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee ตลอดจนเฟ้นทางเลือกที่ดีที่สุดให้ของเหล่านักช็อป

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

กลายเป็นกระแส ทอลก์ออฟเดอะทาวน์ เริ่ม 1 พ.ค.2567 ผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะทำการเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท” หรือ Dynamic Currency Conversion fee (DCC fee) ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่ายและยอดกดเงินสดผ่านตู้ ATM ในสกุลเงินบาท

ยกตัวอย่างเช่น จองโรงแรมที่เป็นโรงแรมในต่างประเทศกับ booking.com โดยชำระเป็นสกุลเงินบาท จำนวน 3,000 บาท จะมีค่าบริการ DCC fee 1% ของยอด 3,000 บาท คือ 30 บาท หรือค่าบริการเติมเงินซื้อเกมร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศผ่าน app store จำนวน 100 บาท จะมีค่าบริการ DCC fee 1% ของยอด 100 บาท คือ 1 บาท

ค่าธรรมเนียม DCC fee ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย เรียกเก็บเมื่อผู้ใช้บัตรเครดิตใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในร้านค้าต่างประเทศและเลือกชำระด้วยสกุลเงินไทย รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL เป็นต้น

สำหรับผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่ออกประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee มาแล้ว อาทิ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท กรุงศรีคอนซูเมอร์ จำกัด บริษัท คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ธนาคารยูโอบี ธนาคาร ทหารไทยธนชาต และบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

โดยรายละเอียดของประกาศดังนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 เป็นต้นไป รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า มาสเตอร์การ์ดเพื่อชำระค่าสินค้า และบริการด้วยสกุลเงินบาท ณ ร้านค้าในต่างประเทศ ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และการกดเงินสดที่เลือกเป็นสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ DCC fee ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียกผู้ให้บริการบัตรเครดิต วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด หารือด่วน ก่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee 1% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ค. 2567 ขณะที่ตัวการรูดบัตรเครดิตใช้จ่ายในต่างประเทศ และช็อปออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างประเทศ เติบโตแบบก้าวกระโดด นับเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee 1%

“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขออาสาเปิดมุมมอง เหตุผลการจัดเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee ตลอดจนเฟ้นทางเลือกที่ดีที่สุดให้ของเหล่านักช็อปดังนี้...

คนไทยช็อปต่างประเทศ 3 แสนล้านต่อปี

รายงานธุรกรรมการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในต่างประเทศ ปี 2566 ที่ผ่านมา ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มียอดการทำธุรกรรมชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในต่างประเทศทั้งสิ้น 135.65 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทั้งสิ้น 14.04 ล้านรายการ

โดยการทำธุรกรรมการชำระเงินในต่างประเทศนั้น เป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย ในต่างประเทศด้วยบัตรเครดิตไทยสูงที่สุด 41.91 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทั้งสิ้น 9.66 ล้านรายการ เนื่องจากคนไทยเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้นหลังช่วงโควิด-19 รองลงมาเป็นยอดธุรกรรมการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย ในต่างประเทศด้วยบัตรเดบิตไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 37,281 รายการ ลดลงจากปีก่อนหน้า 5,288 รายการ

ขณะที่จำนวนการชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ ในต่างประเทศด้วยบัตรเครดิตไทยในปี 2566 อยู่ที่ 30 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 6.58 ล้านรายการ ส่วนจำนวนการชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ ในต่างประเทศด้วยบัตรเดบิตไทยมีทั้งสิ้น 24.81 ล้านรายการ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5.90 ล้านรายการ นอกจากนั้น เป็นการถอนเงินที่เครื่องทำรายการอัตโนมัติในต่างประเทศด้วยบัตรเดบิตไทย 1.61 ล้านรายการ และการเบิกเงินสดล่วงหน้าที่เครื่องทำรายการอัตโนมัติในต่างประเทศด้วยบัตรเครดิตไทย 29,000 รายการ

ทั้งนี้ หากคิดเป็นมูลค่าเงินของการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในต่างประเทศ ปี 2565 พบว่ามีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 302,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2656 ทั้งสิ้น 49,049 ล้านบาท โดยเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย ในต่างประเทศด้วยบัตรเครดิตไทยสูงที่สุด 121,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 35,444 ล้านบาท รองลงมาเป็นการชำระค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ ในต่างประเทศด้วยบัตรเครดิตไทย คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 82,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ทั้งสิ้น 12,981 ล้านบาท

เก็บ “DCC fee” เป็นไปตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) อธิบายว่า ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท ผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้เรียกเก็บตั้งแต่มีบัตรเครดิตที่ไปใช้จ่ายในต่างประเทศ โดยค่าธรรมเนียมสูงสุดเก็บที่ 2.5% จากยอดใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

เพียงแต่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เท่ากัน เก็บกันอยู่ระหว่าง 1-2.5% หรือทั้งตลาดบัตรเครดิตเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 2% ซึ่งการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมากหรือน้อย ขึ้นกับความสามารถในการบริหารต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน หรือมีบางช่วงบางเวลาถ้าผู้ประกอบการบัตรเครดิตบางรายต้องการเร่งยอดใช้จ่ายต่างประเทศ ก็ทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่าย ด้วยการลดค่าธรรมเนียม หรือฟรีค่าธรรมเนียม โดยผู้ประกอบการรับภาระต้นทุนการเปลี่ยนสกุลเงินไว้เอง

ส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท หรือ DCC fee ในอัตรา 1% ของยอดใช้จ่าย เมื่อใช้บัตรเครดิตวีซ่า หรือมาสเตอร์การ์ด ชำระค่าสินค้า หรือบริการในร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เนื่องจากมีปริมาณการใช้จ่ายออนไลน์มีไม่มาก ผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้รับภาระไว้เอง

ขณะที่ปัจจุบันการช็อปปิ้งออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างประเทศได้รับความนิยม มียอดใช้จ่ายเติบโตเร็วมาก มีสัดส่วนขึ้นไปอยู่ที่ 3-4% ของยอดใช้จ่ายต่างประเทศทั้งหมด อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศมีความผันผวนมาก ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ดังนั้นเพื่อความชัดเจน การช็อปปิ้งออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างประเทศ หากผู้ให้บริการกำหนด หรือให้เลือกชำระเงินด้วยเงินบาท แพลตฟอร์มออนไลน์ จะบวกค่าธรรมเนียม DCC fee เข้าไปกับราคาสินค้า และผู้ใช้บัตรเครดิตของไทย จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่าย แต่ถ้าเลือกชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่น อาทิ เงินเย็น ยูโร หรือดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียม 2.5% ของยอดใช้จ่าย

ยกตัวอย่างเช่น Netflix และ Apple ให้บริการชำระเงินเป็นเงินบาท เมื่อรูดบัตรชำระค่าบริการก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่าย เนื่องจาก Netflix และ Apple เป็นร้านค้าต่างประเทศ เมื่อรับชำระเงินเป็นสกุลเงินบาท เมื่อเวลาผู้ประกอบการบัตรเครดิตจ่ายเงินผ่านตัวกลางอย่างวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1% ของยอดใช้จ่าย

ร้านค้าต่างชาติบวก “DCC fee” สูงลิ่ว

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจบัตรเครดิต อธิบายถึงค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่าย ผู้ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมแบ่งออกเป็น 2 ขา คือ ร้านค้าหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ และผู้ให้บริการบัตรเครดิตของไทย

โดยการชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ ร้านค้า หรือแพลตฟอร์มจะสอบถามลูกค้าให้ชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่น หรือสกุลเงินบาท หากเลือกชำระเป็นสกุลเงินบาท จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee บวกเข้าไปกับราคาสินค้าหรือบริการ และยังต้องเสียค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่าย ให้กับผู้ออกบัตรเครดิตของไทย เพื่อนำไปชำระให้กับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด

ยกตัวอย่างเช่น หากใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการ ที่ร้านค้าในญี่ปุ่น ในสเตตเมนต์การชำระเงิน ระบุชัดเจนว่าเรียกเก็บ DCC fee 3.5% ของยอดใช้จ่าย และหากใช้จ่ายในยุโรป หรือสหรัฐฯ จะรวมค่าธรรมเนียม DCC fee 4-5% เข้าไปกับราคาสินค้าทันที นอกจากนี้ผู้ออกบัตรเครดิตของไทยยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่าย

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อผู้ถือบัตรเลือกชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการบัตรเครดิตของไทยเป็นผู้รับภาระแทนให้กับลูกค้าจ่าย DCC fee ให้กับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด เพราะวอลลุ่มการใช้จ่ายมีไม่มาก รายได้ DCC fee ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บัตรที่เลือกเป็นสกุลเงินท้องถิ่นยังถัวๆกันไปได้ แต่เมื่อช็อปปิ้งออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างประเทศเติบโตรวดเร็ว ตอนนี้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเริ่มเข้าเนื้อ จึงมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บ DCC fee ในส่วนที่ต้องจ่ายให้กับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด”

สำหรับผู้ถือบัตรเครดิตเลือกชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ผู้ให้บริการบัตรเครดิตของไทยจะเป็นผู้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม DCC fee 2.5% ของยอดใช้จ่ายเท่านั้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้รวมค่าธรรมเนียม DCC fee 1% ของยอดใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด เข้าไปแล้ว

ชี้ช่องเลือกชำระเงินสกุลท้องถิ่นถูกกว่า

ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจบัตรเครดิตยังชี้แนะการใช้บัตรเครดิต ชำระค่าสินค้าและบริการในต่างประเทศที่คุ้มค่าที่สุด และประหยัดค่าธรรมเนียมมากที่สุด ควรเลือกชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เสียค่าธรรมเนียม DCC fee ในอัตรา 2.5% ของยอดใช้จ่าย อีกทั้งผู้ประกอบการบัตรเครดิตของไทยยังมีแคมเปญ กระตุ้นยอดใช้จ่ายในต่างประเทศ มีการปรับลดค่าธรรมเนียม DCC fee เหลือ 1% ของยอดใช้จ่าย หรือฟรีค่าธรรมเนียม
DCC fee

สำหรับการตรวจสอบความคุ้มค่าการใช้จ่ายบัตรเครดิตในต่างประเทศ ทำได้ผ่านแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการบัตรเครดิต โดยทดสอบซื้อสินค้าราคาไม่สูง เลือกชำระเงินสกุลท้องถิ่นและสกุลเงินบาท หลังจากนั้นอีก 2-3 วัน รายการใช้จ่ายจะเข้ามายังแอปพลิเคชัน ก็สามารถเปรียบเทียบได้ว่า เลือกชำระเงินสกุลไหนเสียค่าธรรมเนียม DCC fee ต่ำสุด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

นอกจากนี้นักเดินทางท่องเที่ยว หรือนักช็อปปิ้ง หากเลือกความคุ้มค่าที่สุดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม DCC fee ควรเลือกชำระค่าสินค้าผ่านบัตร “Travel Card” ซึ่งเป็นบัตรเดบิต สามารถซื้อสกุลเงินต่างประเทศผ่านวอลเล็ต เมื่อนำบัตร Travel Card ไปชำระค่าสินค้าจะตัดสกุลเงินในวอลเล็ต

เพียงแต่ต้องตรวจสอบว่าประเทศที่เดินทางไปท่องเที่ยว ร้านค้ารับชำระเงินผ่านบัตร Travel Card หรือไม่.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ