นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจเกี่ยวกับการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond) ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดย สบน.อยู่ระหว่างศึกษาวิเคราะห์สภาวะตลาด รวมถึงการ พิจารณาข้อดี-ข้อเสียจากการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยต้องศึกษาทั้งข้อดี ข้อเสีย ข้อกฎหมาย เพื่อความถูกต้องและตอบคำถาม ความคุ้มค่าได้ทุกประเด็น
แจงข้อดี–ข้อเสียออกบอนด์ต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นพบว่าต้นทุนการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศยังสูงกว่าการระดมทุนภายในประเทศ โดยอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 4.5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ที่ 2.57% ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยที่ สบน.ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะภาระดอกเบี้ยที่สูงเป็นต้นทุนทางการเงิน และต้องบริหารความเสี่ยงทาง การเงิน ในเบื้องต้นได้หารือกับสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหารือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อหาข้อมูลมาวิเคราะห์ให้รอบด้านมากที่สุด
ส่วนข้อดีของการออกบอนด์ต่างประเทศ คือ การเป็นแหล่งอ้างอิงให้เอกชนที่ออกไปกู้เงินต่างประเทศ ช่วยขยายตลาด ไม่ต้องแย่งสภาพคล่องในประเทศ ซึ่งภาครัฐของไทยไม่ได้ออกพันธบัตรในต่างประเทศมาอย่างยาวนานแล้ว ล่าสุดคือ พันธบัตรซามูไร เมื่อ 16 ปีที่แล้ว และพันธบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ 20 ปีที่แล้ว
สบน.อยู่ระหว่างศึกษาเงื่อนไขที่ดีที่สุด
“การออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ เป็นเพียงนโยบายรัฐบาล ที่สั่งการให้ สบน.ศึกษาเท่านั้น ในขณะนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่มีการกำหนดวงเงิน ไม่มีจ้างที่ปรึกษา ซึ่งการศึกษาต้องพิจารณาความเสี่ยงเรื่องต้นทุนการเงิน แม้ สบน.มีหน้าที่บริหารจัดการหนี้ แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายด้วย ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะออกได้หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะต้องรอผลการศึกษา คาดว่าเดือน มี.ค.นี้ จะมีความชัดเจน ในระดับหนึ่งเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตสามารถออกพันธบัตรสกุลต่างประเทศได้จริง ในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการภายใต้กรอบวงเงิน 500-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 18,000-36,000 ล้านบาท (อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) และการออกพันธบัตรจะนำมาใช้ในธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน นำไปใช้ในโครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เป็นหลัก โดยไม่ได้มองถึงผลตอบแทนทางการเงินเป็นหลัก แต่มองผลตอบแทนทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้น ต้องมองให้ครบทุกมิติ
“ถ้าออกพันธบัตรสกุลต่างประเทศตอนนี้ ขาดทุนแน่นอน เพราะอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศและในประเทศต่างกันมาก ฉะนั้น ต้องมองความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก จะมองแต่ความคุ้มค่าทางการเงิน ไม่ได้ ดังนั้น ต้องนำเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการ ESG ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ของการลงทุนในขณะนี้”
ชี้ดอกเบี้ยสูงความท้าทาย “แผนบริหารหนี้”
นายพชรยังได้กล่าวถึงข้อมูลหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ล่าสุดเมื่อเดือน ธ.ค.66 ด้วยว่าอยู่ที่ 61.34% ต่อจีดีพี คิดเป็นวงเงิน 11.08 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าจีดีพีอยู่ที่ 18.07 ล้านล้านบาท องค์ประกอบของหนี้สาธารณะ แบ่งเป็นรัฐบาลกู้โดยตรง 9.1 ล้านล้าน บาท คิดเป็น 82.15% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด หนี้ของรัฐวิสาหกิจ 1.07 ล้านล้านบาท 9.69% และหากแบ่งตามการกู้เงินในหนี้สาธารณะดังกล่าว แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 98.6% และหนี้ต่างประเทศ 1.4% ส่วนอายุเฉลี่ยของหนี้คือ 8 ปี 11 เดือน โดย เป็นหนี้ระยะยาว 84.78% และหนี้ระยะสั้น 15.22%
ส่วนแผนการชำระหนี้ของประเทศ ในปี 67 วงเงิน 399,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การชำระ หนี้จากวงเงินรายจ่าย 346,000 ล้านบาท แบ่งเป็นชำระเงินต้น 118,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม 228,000 ล้านบาท และแผนชำระหนี้อื่นๆ 53,200 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีจะได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระหนี้ ราว 2.5-4% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย และเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561
นายพชรกล่าวต่อถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 67 ครั้งล่าสุดนี้ ด้วยว่า มีการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่จากเดิม 194,434 ล้านบาท ปรับเพิ่ม 560,276 ล้านบาท กลายเป็น 754,710 ล้านบาท ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1.62 ล้านล้านบาท ปรับเป็น 2 ล้าน ล้านบาท และแผนการชำระหนี้เดิม 390,538 ล้านบาท ปรับอีก 9,075 ล้านบาท รวมเป็น 399,613 ล้านบาท แผนบริหารหนี้สาธารณะมีทั้งก่อหนี้ใหม่ ชำระหนี้เดิม และทดแทนของเดิมที่หมดอายุ ซึ่งปีนี้คาดว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง สบน.จะบริหารนี้อย่างรอบคอบ โดยใช้วิธีแบบผสมผสาน เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง
“บทบาท สบน.ต้องบริหารหนี้ของประเทศ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับแผนหนี้ทุกไตรมาส เพื่อให้มีต้นทุนการเงินที่ต่ำ มีความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งความท้าทายการทำงานของ สบน. คือ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย”.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่