ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ.67 ที่ผ่านมา นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อกล่องพัสดุ โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% สำหรับสินค้าที่สั่งจากต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางภาษี โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย และจงใจหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า เนื่องจากบางครั้งสินค้าราคาแพงแต่แจ้งราคาต่ำ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า
ปัจจุบันสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ได้รับการยกเว้นภาษีแวต เนื่องจากประมวล รัษฎากรได้เขียนผูกไว้กับกฎหมายศุลกากร ที่ให้ยกเว้นการเก็บภาษีแวตในสินค้านำเข้าที่กรมศุลกากรยกเว้นอากรให้ ซึ่งหนึ่งในสินค้าที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ดังนั้น หากจะต้องจัดเก็บภาษีแวตสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท กรม สรรพากรจะต้องปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สามารถ จัดเก็บภาษีแวตได้
สำหรับประเด็นการแก้ไขกฎหมายสรรพากรไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอให้สามารถจัดเก็บภาษีได้จริง และคุ้มค่าต่อการจัดเก็บ เพราะการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าต่ำนั้น ปัจจุบันมีปริมาณเข้ามาจำนวนมากหลายสิบล้านชิ้นต่อวัน หากจะให้เจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีทุกรายการสินค้านำเข้านั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ หรือจะใช้แนวทางใด ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่พิจารณา คือ การจัดเก็บบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสินค้าให้กับไทยเลย ซึ่งต้องกลับไปพิจารณาอย่างรอบคอบ
ส่วนประเด็นการปรับลดมูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าของกรมศุลกากร จาก 1,500 บาทต่อกล่องพัสดุนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีการหยิบยกมาหารือ เนื่องจากการปรับมูลค่าหรือเพิ่มมูลค่า ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่าราคาสินค้าที่ผลิตในประเทศ สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องเสียภาษีอย่างถูกต้อง ขณะที่สินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หากสั่งซื้อไม่เกิน 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนอัตราภาษีใหม่แล้ว ทั้งการยกเว้นภาษีแวต และปรับอากรขาเข้าหรือภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ส่วนวิธีการ และขั้นตอนต้องให้หน่วยงานราชการไปศึกษาว่าจะใช้วิธีการจัดเก็บอย่างไร เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
“ยอมรับว่า การนำเข้าสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่สั่งซื้อออนไลน์ จะได้รับการยกเว้นภาษี มีจำนวนหลายสิบล้านชิ้น เพราะราคาไม่เกิน 1,500 บาท จึงเป็นเรื่องยาก หากต้องเปิดตรวจสอบสินค้าที่นำเข้ามาแต่ละชิ้น ส่วนแนวทางที่เสนอให้แพลต ฟอร์ม ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์จัดเก็บภาษีและนำส่งรายได้ให้รัฐบาล ก็เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ แต่เรื่องนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการสำแดงราคาสินค้าว่าจะเป็นเท็จหรือไม่”
นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่า สำหรับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าหรือภาษีศุลกากรในกลุ่มสินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีการยกเว้นเรื่องภาษีกลุ่มสินค้าราคาต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นต้องพิจารณารายละเอียดเพื่อความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนอัตรามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากเดิม 500 บาท ปรับเป็น 1,500 บาท ซึ่งสามารถปรับแก้ไขได้
ส่วนประเด็นเรื่องเขตการค้าปลอดภาษี หรือฟรี เทรดโซนนั้น ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องทำให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเป็นสำคัญ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่