น.ส.ปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ศึกษาประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งโตต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน พบว่ามาจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้น ซึ่งพบว่าระยะหลังเศรษฐกิจโลกขยายตัวจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัว เห็นได้จากเครื่องชี้ภาคการผลิตของโลก (PMI) ที่ชะลอตัวมา 14 เดือน สวนทางกับเครื่องชี้ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน ส่งผลให้การส่งออกไทยชะลอลง
ขณะเดียวกัน ธปท.ยังพบปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้าง ที่ส่อถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทยที่รุนแรงขึ้น เช่น สินค้าที่เคยทำได้ดีภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าว ที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยทรงตัวนานกว่า 20 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวไทยลดลงจาก 25% ปี 46 มาอยู่ที่ 13% ในปี 65 โดยไทยเสียแชมป์และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกกุ้งของไทยลดลงจาก 14% ในปี 55 มาอยู่ที่ 4% ในปี 65 จากต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าคู่แข่ง การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกต่ำอยู่แล้ว และระยะหลังยังถูกจีนเวียดนามตีตลาด จนส่วนแบ่งเหลือเพียง 0.8% ในปี 65 แม้กระทั่งสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในไทยก็ถูกแทนที่จากสินค้าจีน เช่น มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าจากจีนปี 66 เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิดที่ 14%
ขณะที่การท่องเที่ยวไทย แม้ยังแข่งขันได้แต่คู่แข่งกำลังตีตื้นและบางรายแซงไทยไปแล้ว สะท้อนจากดัชนีการพัฒนาการเดินทางและการท่องเที่ยว (TTDI) ปี 64 ซึ่งไทยอยู่อันดับ 36 จาก 117 ประเทศ ใกล้เคียงกับปี 62 แต่อินโดนีเซียอยู่อันดับ 32 ขยับดีขึ้น 12 อันดับ เวียดนามอยู่อันดับ 52 ขยับดีขึ้น 8 อันดับ นอกจากนี้ สินค้าไทยยังได้รับผลกระทบจากกระแสดิจิทัล ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยเสี่ยงที่จะปรับตามไม่ทัน โดยเฉพาะไทยที่ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ไม่ค่อยเป็นที่ต้องการแล้ว และยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับ AI จึงได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น้อย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่