นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปีนี้หรืองวดเดือน พ.ค.-ส.ค.และเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ไม่น่าจะมีราคาต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.นี้ ที่อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย เพราะต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลัก ในการผลิตไฟฟ้ายังเป็นปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทาง ค่าไฟฟ้าในปีนี้และในอนาคตที่มีราคาผันผวนต่อเนื่อง
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิตไฟฟ้าให้ถูกลงก็มีการปรับไปทั้งหมดแล้ว และขณะนี้ประเทศไทยก็ใช้นโยบายค่าไฟฟ้าราคาเดียวทั่วประเทศ (ยูนิฟอร์ม ทาริฟ) ถ้าอยากให้ค่าไฟฟ้า ถูกลงก็อยู่ที่ว่าคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ จะยอมรับได้หรือไม่ที่จะให้คนกรุงเทพฯจ่ายค่าไฟฟ้าถูกกว่าคนต่างจังหวัด เพราะในต่างจังหวัดยังคงต้นทุนการจ่ายไฟฟ้าที่ต้องผ่านโครงข่ายสายส่ง ในต่างจังหวัดที่มีต้นทุนสูงกว่าในกรุงเทพฯ
ไม่มีเงิน Short Fall มาอุดหนุน
เพราะในขณะนี้หากคำนวณค่าไฟฟ้าจากต้นทุนการผลิตที่ไม่รวมหนี้เดิมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 100,000 ล้านบาท จะเฉลี่ยอยู่ที่ 4.20 บาทต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าในงวดต่อๆไปก็น่าจะแตกต่างจากงวดนี้ (ม.ค.-เม.ย.) เพราะไม่มีเงิน Short Fall (ค่าปรับจากผู้ผลิตที่ไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขาย) เข้ามาช่วยอุดหนุนอีกแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ขายปลีกเรียกเก็บสำหรับงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. จำนวน 39.72 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วยตามสูตรการคำนวณเอฟที และให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4.18 บาทต่อหน่วย พร้อมกับได้ปรับปรุงการคำนวณดังกล่าวตามมาตรการลดค่าไฟฟ้าของกระทรวงพลังงาน ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบประกอบด้วย
การปรับปรุงตามมาตรการที่ให้ กฟผ. รับภาระเงินคงค้างสะสม งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. จำนวน 15,963 ล้านบาท แทนประชาชนไปพลางๆก่อน ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 25.37 สต.ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.43 บาทต่อหน่วย, การปรับปรุงราคาประมาณการก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ตลาดจร (Spot LNG) จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 16.9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียูเป็น 14.3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทำให้ราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากทุกหลุม) ลดลงจากเดิม 387 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 365 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้สามารถลดค่าเอฟทีลงได้ 9.98 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.34 บาทต่อหน่วย
การปรับปรุงตามมาตรการปรับราคาก๊าซธรรมชาติเข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นราคา Pool Gas ซึ่งเป็นราคารวมจากแหล่งอื่นๆด้วย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่นำไปใช้ในการผลิตก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ใช้ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ เท่ากับราคาก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย (Gulf Gas) ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 365 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 343 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 10.01 สตางค์ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.23 บาทต่อหน่วย
ลุ้นปริมาณก๊าซฯจากอ่าวไทย–เมียนมา
นอกจากนี้ ยังให้เรียกเก็บ Shortfall กรณีที่ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทยไม่สามารถส่งมอบได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในปี 2563-2565 จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้ ปตท.ส่งผ่านเงิน Shortfall จำนวน 4,300 ล้านบาท โดยให้นำมาลดค่าก๊าซธรรมชาติ ในรอบเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. ทำให้ราคา Pool Gas ลดลงจาก 343 บาทต่อล้านบีทียูเหลือ 333 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ค่าเอฟทีลดลงได้ 4.47 สต.ต่อหน่วย และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย
สำหรับเหตุผลสนับสนุนการคาดการณ์แนวโน้มค่าไฟฟ้าช่วงที่เหลือของปีนี้ กกพ. ยังให้น้ำหนักไปที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำในการผลิตไฟฟ้าที่ยังไม่สามารถป้อนโรงไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทานเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะแหล่งก๊าซเอราวัณที่คาดว่าจะสามารถขุดเจาะและผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบได้ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงห่างจากเป้าหมายกำลังการผลิตในสถานการณ์ปกติ ก่อนเปลี่ยนผ่านสัมปทานที่ควรจะได้ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เพื่อให้มีส่วนเข้ามาช่วยต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันตัวเลขกำลังการผลิตล่าสุด และเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.นี้ได้
ปัจจัยต่อมาคือ แหล่งก๊าซธรรมชาติในเมียนมา 3 แหล่งได้แก่ ยาดานา, เยตากุน, ซอติกา ที่ต้องติดตามปริมาณและกำลังการผลิตว่าจะไม่ต่ำไปจากปัจจุบัน เพราะเป็นแหล่งที่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากใกล้จะหมดอายุแล้ว รวมทั้ง การคืนหนี้ค้างชำระหรือการลดภาระทางการเงิน ในการแบกรับต้นทุนเชื้อเพลิงให้กับ กฟผ. ที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย และการดำเนินการเกี่ยวกับภาระทางการเงินให้กับ กฟผ.
วัดใจรัฐบาลลดราคาค่าไฟฟ้า
เนื่องจาก กฟผ.ได้รับภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนไว้ในงวดก่อนหน้า (ก.ย.-ธ.ค.2566) และคาดว่าการให้ กฟผ.รับภาระเชื้อเพลิงบางส่วนเพิ่มเติมในค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย. ทำให้หนี้สินค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.จะใกล้เคียงระดับแสนล้านบาทอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ ประเทศไทยอาจมีข่าวดีมาช่วยเยียวยาค่าไฟฟ้าใน 2 งวดสุดท้ายของปีนี้ที่หากราคาแอลเอ็นจีในตลาดจร ณ ระดับปัจจุบัน 11 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู โดยถ้าหากราคายังอยู่ในระดับนี้ไปเรื่อยๆก็จะไม่กดดันให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ที่สำคัญค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.และงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ยังขึ้นอยู่กับภาคนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงต้องตัดสินใจดูความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ในการบริหารจัดการและการจัดการงบประมาณมาดำเนินการเป็นสำคัญอีกด้วย.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่