เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจปีละ 1 ล้านล้าน “พิชัย” หนุนรัฐหาข้อยุติก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจปีละ 1 ล้านล้าน “พิชัย” หนุนรัฐหาข้อยุติก๊าซพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

Date Time: 11 ม.ค. 2567 08:01 น.

Summary

  • “พิชัย” หนุนเจรจาหาข้อยุตินำก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มาใช้ประโยชน์ เผยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไทยได้ 6-20 เท่า มีเม็ดเงินใหม่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจปีละ 1 ล้านล้านบาท รัฐได้ค่าสัมปทานปีละ 2 แสนล้านบาท และค่าไฟฟ้าจะถูกลง

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงจังหวะนี้ถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาจะเจรจาหาข้อยุติในการสำรวจและขุดพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตรขึ้นมาใช้ประโยชน์ ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุว่าจะเจรจาร่วมกับนายฮุน มาเนต นายก รัฐมนตรีกัมพูชา ที่จะมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.พ.2567 ถึงประเด็นนี้ให้ได้ข้อยุติ ซึ่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ไทย 6-20 เท่า เพราะเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่นำเข้าโรงแยกก๊าซ และนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซ 6 โรง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่

“มูลค่าก๊าซในแหล่งนี้คร่าวๆ เกินกว่า 10 ล้านล้านบาท ขึ้นอยู่ว่าแต่ละปีเอาขึ้นมาเท่าใด และสามารถทำปิโตรเคมีสร้างรายได้เพิ่มได้จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณปีละ 1 ล้านล้านบาทขึ้นไป คือ ประโยชน์ที่ไทยได้รับ”

คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูกลง

ขณะเดียวกัน ก๊าซที่ได้จากพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา จะมีราคาถูก ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยถูกลงได้ เพราะก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมามีปริมาณลดลง ทำให้ปัจจุบันต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากแหล่งอื่นมาผลิตไฟฟ้า ทำให้ราคาต้นทุนผลิตไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละ 5-6 บาท เมื่อนำมาขายในราคา 3-4 บาท ไม่เจ๊งตอนนี้จะเจ๊งตอนไหน และยังทำให้ค่าไฟฟ้าประเทศไทยแพงกว่าหลายประเทศในโลก แพงกว่าสหรัฐฯ โดยมีการเปรียบเทียบสเกลของค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟฟ้าในโลก สมมติของไทยเต็ม 100 ของสหรัฐฯเท่ากับ 90 ของไทย คือถูกกว่าไทย 10% ส่วนมาเลเซีย 83 เกาหลี 75 อินเดีย 74 ไต้หวัน 72 แคนาดา 66 จีน 56 เวียดนามและอินโดนีเซีย 46

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจไทยโชติช่วงชัชวาลเมื่อ 30 ปีก่อน เพราะมีการขุดและนำก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์ แต่ตอนนี้ร่อยหรอลงแล้ว ขณะที่ก๊าซในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชายังไม่ถูกขุดขึ้นมา โดยพื้นที่ที่มีก๊าซจะเป็นเหมือนรูปไข่ ที่เราใช้ 30 ปีมาแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งของไข่ ส่วนอีกครึ่งของไข่มีมากกว่าหรือเท่ากับอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ฉะนั้นถ้าเอาขึ้นมาได้ก็นำมาใช้ได้อีกหลาย 10 ปี

“อย่าไปพูดเรื่องแบ่งแยกดินแดน ทั้งโลกก็เป็นแบบนี้ ประเทศที่ติดกันหากคุยเรื่องแบ่งแยกดินแดนไม่จบหรอก ชาตินี้ก็ไม่ได้เอาขึ้นมา แนวทางของรัฐบาลนี้คือ เจรจาแค่เอาก๊าซขึ้นมาเอาผลประโยชน์มาแบ่งกัน ได้ประโยชน์ทั้งสองประเทศ และไทยได้ประโยชน์มากกว่าเพราะไทยมีโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซ มีธุรกิจปิโตรเคมีคอล ซึ่งกัมพูชายังไม่มี และคนไทยมี 68 ล้านคน กัมพูชามี 10 กว่าล้านคน คนไทยได้ใช้มากกว่าอยู่แล้ว”

รัฐได้ค่าสัมปทานปีละ 2 แสนล้าน

นายพิชัยกล่าวว่า การเดินท่อก๊าซใต้ทะเลไม่ได้ง่ายๆ แต่ไทยมีท่อในทะเลอยู่แล้ว จึงมองว่าจะสามารถเอาขึ้นมาได้ใน 2-7 ปี เพราะในแหล่งใกล้ๆก็เพียงต่อท่อไปนิดเดียวก็เอาขึ้นมาได้ แต่จุดไกลๆก็อาจหลายปี แต่ถ้ากัมพูชาทำก็ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ใช้เวลาอีก 7-8 ปี เพราะต้องเดินท่อใหม่ มันไม่ได้ง่าย ค่อนข้างยุ่งยากกว่าจะสร้างปิโตรเคมีคอลอาจจะถึงเวลาเลิกใช้ก๊าซแล้วก็ได้ ฉะนั้น ถ้ากัมพูชาจะเอาขึ้นทางฝั่งประเทศของเขา เขามีสิทธิ์ แต่ต้องคิดดีๆระยะยาวจะคุ้มไหม ส่วนฝั่งไทยคุ้มเพราะคืนทุนกันหมดแล้ว กำไรที่เหลือเอาก๊าซขึ้นมาก็ทำได้ต่อเลย

“สำหรับค่าสัมปทานคำนวณยาก เพราะได้เท่าใดต้องแบ่งกับกัมพูชาและขึ้นกับปริมาณของก๊าซที่นำขึ้นมาว่ามีจำนวนเท่าใด แต่โดยหลักควรต้องเจาะเยอะและเร็ว เพราะต่อไปจะเลิกการใช้ก๊าซแล้ว แต่แม้ว่า จะแบ่งกัมพูชาก็เชื่อว่าแต่ละปีรัฐจะได้ค่าสัมปทานถึง 200,000 ล้านบาท เอาเงินไปช่วยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทได้เลย สำคัญคือได้ก่อนให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องปีละเป็นล้านล้านบาท รัฐก็ได้ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคลต่อเนื่อง”

แนวทางเจรจาผลประโยชน์

สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก รัฐมนตรีได้เจรจาเรียบร้อยหมดแล้ว แต่มาติดที่กระทรวงการต่างประเทศ ไม่รู้เหตุผลใดไม่ยอมทำและนิ่ง มาสมัยนี้ หากเห็นด้วยกับที่เจรจาไว้เดิมของเดิมก็เซ็นสัญญากันได้เลย ที่นี้ก็มาถึงขั้นตอนว่าจะให้สัมปทานกับบริษัทใดในการขุดเจาะ สำรวจหาก๊าซ เพราะเมื่อปี 2511 หรือ 50 กว่าปีก่อน ไทยเคยให้สัมปทานบริษัทเชฟรอน ไปสำรวจและขุดเจาะหาก๊าซในพื้นที่นี้ ขณะที่ทางกัมพูชาก็ให้สัมปทานกับอีกหลายบริษัท แต่ในทางปฏิบัติไม่มีบริษัทใดเข้าไปดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาบุกรุกเขตชายแดน แต่เนื่องจากสัญญาที่ทำไว้เหมือนสัญญาทาส ไม่มีข้อกำหนดเวลา ฉะนั้นก็ต้องหาทางออกได้ใน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ยกเลิกหมดเลยและเปิดประมูลใหม่ ใครให้ผลประโยชน์สูงสุดคนนั้นก็ได้ไป แนวทางที่ 2 ถ้าจะรักษาน้ำใจกันก็เรียกทุกบริษัทมาคุยกันว่าจะจัดสรรอย่างไร ได้กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ต้องกำหนดรายได้ของรัฐให้สูงขึ้นได้ เพราะแน่ใจแล้วว่าพื้นที่นี้มีพลังงานแน่นอน ทุกคนที่เข้ามาสัดส่วนเท่าใดก็ตามต้องจ่ายให้รัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน

“พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเป็นของร้อน ถูกปั่นมาเป็นประเด็นทางการเมืองได้ ทุกครั้งก่อนหน้านี้เป็นอย่างนั้น แต่ความจริงไม่ใช่เรื่องร้อน หากเอาความจริงเป็นหลัก ผมพูดเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว เชื่อว่าทำแล้วเป็นประโยชน์จริงๆ ประเทศที่มีแหล่งพลังงานเจริญหมด และประเทศที่ราคาพลังงานถูกจะฟื้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าประเทศที่พลังงานแพง ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่ต้องมีพลังงานถูก”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ