ปี 2024 หรือ พ.ศ.2567 เรียกได้ว่าเป็นปีแห่ง “การเลือกตั้ง” ของโลกก็ว่าได้ เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งภายในของหลายประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนพรรคการเมือง หรือการเปลี่ยนตัวผู้นำของประเทศ โดยเฉพาะ ในกลุ่มมหาอำนาจนี่เอง อาจส่งผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศ รวมไปถึงในแง่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของหลายภูมิภาค
ซึ่งว่ากันว่า ความขัดแย้ง และความตึงเครียดทางการเมือง จะเพิ่มขึ้น หรือลดลง คงขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ จะออกมาอย่างไร? เพราะมีผลต่อเสถียรภาพ และเศรษฐกิจของภูมิภาคนั้นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยที่แนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในภาวะค่อยๆ ฟื้นตัว จึงต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อไหร่ที่ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกรุนแรงขึ้น ประเทศที่นำเข้าพลังงานสูงอย่างไทยก็จะได้รับผลกระทบรุนแรงตามไปด้วย รวมไปถึงภาคการขนส่ง และการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยด้วย
เจาะมุมมองการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองโลก และเศรษฐกิจภูมิภาค ของ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่า เร็วๆ นี้ ไทยต้องจับตามองผลการเลือกตั้งของไต้หวัน
เนื่องจาก การเลือกตั้งในไต้หวัน หากพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้ง ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนน่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น และไม่เพิ่มความเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน ในกรณีไต้หวัน
ภาวะดังกล่าวส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นผลบวกทางเศรษฐกิจ และการลงทุน นอกจากนี้สภาพการแตกขั้วของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกเบาลง หรือ Geo-economics Fragmentation ลดลง
ซึ่งความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียบริเวณช่องแคบจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน การค้า และตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างไร ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวันที่ 13 มกราคม ศกนี้ เพราะผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อประเทศจีน และการผนวกรวมกับประเทศจีนที่แตกต่างกันมากพอสมควร ประชาชนจีน และจีนไต้หวัน นั้นต้องการสันติภาพ
ขณะเดียวกันชาวจีนไต้หวันจำนวนมากต้องการเป็นอิสระจากจีน และมีวิถีชีวิต และค่านิยมแบบเสรีประชาธิปไตย อันเป็นคุณค่าที่แตกต่างจากระบอบการปกครองของพรรคคอมนิวนิสต์จีนที่เน้นระบบคุณค่าแบบเน้นเสถียรภาพ และองค์รวมของสังคมมากกว่าสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล
ผลการเลือกตั้งในสัปดาห์หน้าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในไต้หวันว่าคิดอย่างไร และกำหนดชะตากรรมอนาคตของประเทศและภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าพรรคการเมืองในไต้หวันพรรคใดจะได้ปกครองประเทศก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีนโยบายรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ไม่ปฏิเสธที่จะใช้แนวทางอื่นหากจำเป็น หลังการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง กับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2492
ดร.อนุสรณ์ ประเมินต่อว่า หากพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ พรรคประชาชนไต้หวัน ชนะการเลือกตั้ง การฟื้นฟูความสัมพันธ์จะเกิดขึ้น ความตึงเครียดลดลง ส่งผลบวกต่อการค้าการลงทุน และเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียโดยรวม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจลดลง การแตกขั้วของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมชิป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เบาลง
“ขณะนี้มีผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันที่มีคะแนนสูงสุดสามลำดับแรกประกอบไปด้วย ล่าย ชิง เต๋อ หรือ William Lai แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน และไม่ต้องการให้ “ไต้หวัน” เป็นส่วนหนึ่งของจีน หาก ล่าย ชิง เต๋อ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ ความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา จะไม่ต่างจากยุคของ ประธานาธิบดีไช่ อิง เหวิน คนปัจจุบัน ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเช่นเดียวกัน อาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนในภูมิภาคระดับหนึ่ง"
โดยเฉพาะสภาวะการแตกขั้วทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงขึ้น และน่าจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าประเภทชิป เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจะแบ่งแยกชัดเจนขึ้น และอาจมีการกีดกันทางการค้าต่อกันเพิ่มขึ้นได้ หากคู่แข่งอีกสองคนไม่ว่าจะเป็น โฮ้ว เหย่า หยี แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง หรือ โก เหวิน เจ แห่งพรรคประชาชนไต้หวัน ซึ่งมีนโยบายที่เป็นมิตรกับจีนมากกว่า
ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้นเกิดขึ้นปลายปีนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะเกิดขึ้นจริงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถผ่านเข้ามาเป็นผู้แทนพรรครีพับรีกัน และชนะการเลือกตั้งได้ นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และลัทธิกีดกันทางการค้าจะหวนคืนกลับมาอีกคำรบหนึ่ง และอาจจะมีแนวโน้มที่เข้มข้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอาจทำให้เกิดการตอบสนองในตลาดการเงิน และตลาดการลงทุนได้แล้ว แม้นผลการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปีก็ตาม
ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในวันที่ 17 มีนาคมนั้น น่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ประธานาธิบดีปูติน จะชนะเลือกตั้งโดยไม่ยาก เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญทั้งหมดถูกขจัดให้ออกจากเวทีการแข่งขันไปทั้งหมด
อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าหลังการเลือกตั้งจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านผลการเลือกตั้งหรือไม่ และประธานาธิบดีปูตินในสมัยที่ห้าจะมีท่าทีอย่างไรต่อสงครามในยูเครน
นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ อินเดียมีเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายน และพฤษภาคม เกาหลีใต้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนเมษายน เม็กซิโกมีเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายน สิ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษ แนวความคิดประชานิยมฝ่ายขวาและการต่อต้านอียูจะได้รับชัยชนะมากน้อยแค่ไหน ผลการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยที่ชี้ทิศทางของระบบการค้าโลก การเปิดเสรีและทุนนิยมโลกาภิวัตน์จะพัฒนาการต่อไปอย่างไร
ทั้งนี้แม้โลกมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศสำคัญที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเร่งรัดการใช้งบ 2567 การลงทุนภาครัฐ และต้องเร่งการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพภายใน 8 เดือน
นอกจากนี้มาตรการ Easy E-Receipt 2567 ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50,000 บาท จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสแรก ส่วนการคาดการณ์อัตราการขยายตัว Nominal GDP (GDP ณ ระดับราคาปัจจุบัน) ในเอกสารงบประมาณนั้นเป็นเรื่องที่มีการทำประจำทุกปี เพื่อนำเอา Nominal GDP มาประมาณการรายได้ในปีงบประมาณนั้นๆ Nominal GDP นี้จะแตกต่างจาก Real GDP ที่มีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย Nominal GDP ที่มีการประมาณการไว้ในเอกสารงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ระดับ 5.4%
จึงมีความสมเหตุสมผลอยู่เนื่องจากเมื่อนำเอา GDP Deflator เข้าไปคำนวณอัตราการขยายตัว Real GDP จะอยู่ที่ 3% กว่าๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สูงมากเกินไป.