นับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล “เศรษฐา” ที่สามารถเจรจากับทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีนแบบถาวร โดยจะเริ่มต้นวันที่ 1 มี.ค.2567 เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาและเป็นไปตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ว่าจะเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อปลดภาระในการขอวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก
ที่น่าฮือฮา เพราะประเทศแรกที่ไทยเจรจาได้สำเร็จคือจีน ที่แม้แต่ภาคเอกชนท่องเที่ยวยังแทบไม่เชื่อสายตาว่าเป็นจริง เพราะทันทีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเรื่องนี้ นักข่าวได้โทรหา “ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ยังเข้าใจว่าเป็นการยกเว้นวีซ่าให้กันและกันชั่วคราว เหมือนที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศยกเว้นให้กับ 6 ประเทศ เป็นเวลา 1 ปี ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และสเปน ให้เข้าจีนได้เป็นเวลาสูงสุด 15 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566-30 พ.ย.2567
ในตอนนั้นไม่มีชื่อประเทศไทย แม้แต่คนไทยเองก็รู้สึกเสียดายว่าทำไมไม่มี ทั้งที่รัฐบาลไทยได้นำหน้ายกเว้นวีซ่าให้คนจีนได้ชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.2566–29 ก.พ.2567
“ศิษฎิวัชร” เป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทยที่ทำธุรกิจกับจีนมานาน ถึงกับเอ่ยเสียง อื้อหือ โอโห เมื่อทราบว่า ข้อตกลงระหว่างไทย-จีนครั้งนี้เป็นการยกเลิกวีซ่ากันและกันอย่างถาวร ถือเป็นการกระชับความสัมพันธไมตรีที่ดีเยี่ยมระหว่างกัน รัฐบาลจีนต้องไว้วางใจกันและกันมากถึงให้ไทยขนาดนี้ ผลดีจากนี้ไปจะเกิดการเดินทางระหว่างกันมากขึ้นอย่างแน่นอน
“แต่การที่จะได้คนจีนมาเที่ยวประเทศ ไทยตามเป้าที่การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้ในปี 2567 ที่ 8 ล้านคน ก็ยังจำเป็นต้องทำการตลาดอย่างหนัก จะอยู่เฉยไม่ได้ เพราะตอนนี้คนจีนก็ยังไม่ออกเดินทางเที่ยวนอกประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่เรื่องนี้เป็นข่าวขึ้นมา “เจษฎาพันธุ์ จันทขันธ์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาด ประจำประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ของ Trip.com ระบุว่าใน 1 ชั่วโมงถัดมาหลังการแถลงดังกล่าว มี “คีย์เวิร์ด” ยอดการค้นหาที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยบนแพลตฟอร์มในจีนของทริปดอทคอมกรุ๊ปเพิ่มมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับชั่วโมงก่อนหน้าการแถลง เฉพาะยอดการค้นหาเที่ยวบินจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งสู่กรุงเทพฯเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ในทันที
ขณะเดียวกัน ยอดการค้นหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับประเทศจีน บนแพลตฟอร์มฝั่งไทยของทริปดอทคอมเพิ่มขึ้นมากกว่า 80% ในชั่วโมงถัดมาหลังข่าวนี้ถูกเผยแพร่ โดยจุดหมายปลายทางอย่าง กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง คุนหมิง และเมืองอื่นๆได้รับความสนใจอย่างมาก
เบื้องลึกเบื้องหลังของความสำเร็จในครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่มีข่าวเรื่องนี้ออกมาทั้งที่ฝ่ายจีนยังไม่ได้ประกาศ เนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567 ได้เห็นชอบการจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการตรวจลงตราหรือการยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาและหนังสือเดินทางกึ่งราชการ
“ผมจะเดินทางไปลงนามความตกลงภายในเดือน ม.ค.หรือต้นเดือน ก.พ.2567 นี้ เพื่อให้การเดินทางไปมาระหว่างกันเกิดความราบรื่น เนื่องจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหรือวีซ่าฟรีแก่นักท่องเที่ยวจีนเป็นการชั่วคราวจะสิ้นสุดในวันที่ 29 ก.พ.2567 เมื่อลงนามแล้วจะสามารถเดินทางระหว่างกันอย่าง
ต่อเนื่อง”
ในร่างความตกลงฯจะให้ยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยและผู้ถือหนังสือเดินทางกึ่งราชการ และหนังสือเดินทางธรรมดาของจีน สามารถพำนักได้ไม่เกิน 30 วัน และรวมระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ภายในช่วงเวลา 180 วัน ยกเว้นกรณีการพำนักถาวร การทำงาน การศึกษา กิจกรรมด้านสื่อ หรือกิจกรรมอื่นๆที่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตล่วงหน้า
“ความตกลงนี้เป็นผลมาจากที่นายกรัฐมนตรีไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16-19 ต.ค.2566 และได้หารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และขอให้ทั้งสองฝ่ายมีการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาซึ่งกันและกัน”
ต่อมาเมื่อวันที่ 6-7 ธ.ค.2566 ผมได้ไปร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่กรุงปักกิ่ง และได้หารือทวิภาคีกับนายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน โดยหยิบยกเรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย ซึ่งนายหวัง อี้เห็นชอบด้วย จึงได้เสนอขอตั้งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน จากนั้นวันที่ 21-22 ธ.ค.2566 คณะทำงานฝ่ายไทย นำโดยรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้เจรจากับรองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของจีนที่กรุงปักกิ่ง และเห็นพ้องที่จะให้ความตกลงฯมีผลใช้บังคับภายในวันที่ 1 มี.ค.2567
ดร.ปานปรีย์กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากนี้ไป กระทรวงการต่างประเทศได้เดินหน้าเจรจาเพื่อยกเว้นวีซ่าระหว่างกันอีกหลายประเทศ เชื่อว่าจะมีข่าวดีในอีกไม่นาน จะช่วยยกระดับพาสปอร์ตไทยให้สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก”.
อมรรัตน์ จรูญสมิทธิ์
คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม