ปิดฉากไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการลงทุนปี 2566 ที่ไม่สดใส ตลาดเงินตลาดทุนผันผวนรุนแรงตลอดทั้งปี มีหลากหลายปัจจัยเข้ามากระทบ จนบรรดาเศรษฐี หรือนักลงทุนบาดเจ็บถ้วนหน้า พอร์ตการลงทุนติดลบ หรือติดยอดดอย ทั้งการลงทุนในหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร และคริปโตเคอร์เรนซี
ในทางกลับกันทุกวิกฤติกลับเป็นโอกาส เศรษฐี หรือนักลงทุนบางกลุ่มที่จับจังหวะการลงทุนได้ถูกต้อง หรือเดินถูกทาง
ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยได้เป็นจำนวนมาก อาทิ การลงทุนในทองคำ เป็นต้น
เริ่มศักราชใหม่ปี 2567 “ทีมเศรษฐกิจ” ได้เปิดใจ 6 กูรูการเงินชั้นนำของสถาบันการเงินไทย และยังเป็นหัวเรือใหญ่ในธุรกิจ Wealth รับบริหารเงินเศรษฐีในประเทศไทยมากกว่า 80% ของตลาด ช่วยกันสะท้อนมุมมองการลงทุนในปีมังกรทอง พร้อมเลือกสินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ และจัดพอร์ตลงทุน เพื่อเป็นแนวทางของคนไทยที่อยากต่อยอดบริหารเงินให้งอกเงยขึ้นในปีใหม่ ดังนี้....
ศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์
ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการลงทุนคือ เศรษฐกิจแต่ละประเทศจะชะลอตัวไม่เหมือนกัน จากภาวะดอกเบี้ยสูงขึ้นต่อเนื่องและค้างไว้เป็นเวลานานในหลายประเทศ ซึ่งคาดว่าภาวะนี้จะอยู่ต่อไปอย่างน้อยช่วงครึ่งแรกของปี ขณะที่นักลงทุนก็คาดหวังว่าจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การเกิดภาวะเศรษฐกิจโตช้า แต่เงินเฟ้อสูง (Stagflation) กลุ่มประเทศในยุโรปรวมถึงอังกฤษ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้สูงกว่าภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นธุรกิจที่มีหนี้ใกล้ครบกำหนดจำนวนมาก มีความเสี่ยงต้องกู้ยืมใหม่ (rollover) ในอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมาก
“ความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ การเลือกตั้งในไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่มีการหาเสียงและประกาศนโยบาย อาจทำให้ตลาดการลงทุนเกิดความผันผวนได้ ขณะที่ สภาพคล่องทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง จากการใช้นโยบายดูดเงินในระบบกลับออกมา (Quantitative Tightening : QT)”
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯรวมทั้งหุ้นกู้ที่มีคุณภาพสูง (Investment Grade) มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดี จากความเสี่ยงขาลง (downside risk) ที่ลดลง และมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาที่สูงขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายแล้วไปจนถึงช่วงที่เฟดลดดอกเบี้ยครั้งแรก
2.ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ควรให้น้ำหนักไปที่หุ้นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด และกลุ่มที่ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจ
3. ตลาดหุ้นอินเดีย ที่ได้แรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับสูง ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในช่วงการขยายตัว และมูลค่าหุ้นไม่แพงมากเมื่อเทียบกับอดีต
4.ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มขยายตัวดี และคาดว่าจะมีแรงซื้อหุ้นญี่ปุ่นจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆมากขึ้น
และ 5.ตลาดหุ้นไทย ที่ราคาปรับลดลงตอบรับปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจไทยยังได้แรงหนุนจากแนวโน้มการส่งออกและท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
จัดพอร์ตลงทุน
แนะนำให้แบ่งสัดส่วนเงินลงทุน ดังนี้ 15% เป็นกระแสเงินสด อาจฝากเงินในบัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่าสกุลเงินบาท 15% ลงทุนในตราสารหนี้ โดยเน้นเลือกตราสารหนี้ระยะยาวที่มักจะให้ผลตอบแทนได้ดีในช่วงที่ดอกเบี้ยหยุดขึ้นแล้ว
อีก 30% ลงทุนในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ 20% ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ Capped Floored Floater Noted หุ้นกู้อนุพันธ์ที่จำกัดผลตอบแทนต่ำสุด แลกกับการจำกัดผลตอบแทนสูงสุด และลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์อื่น ส่วนที่เหลือให้แบ่ง 10% ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ (Private Asset) และอีก 10% ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนต่างๆ
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย
เศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่อได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง สหรัฐฯ สามารถเลี่ยงภาวะถดถอยและขยายตัวช้าลงแบบ Soft landing ยุโรปค่อยๆ ฟื้นตัว
ขณะที่จีนรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจให้กลับมาเป็นปกติ เงินเฟ้อจะลดลงต่อ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ธนาคารกลางจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย สหรัฐฯ และยุโรปจะเริ่มลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปีนี้ แต่จะไม่ลดลงไปต่ำเท่าระดับก่อนโควิด
“ตลาดจะจับตาเรื่องการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ รวมทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และเงินลงทุนจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้มากขึ้นเพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงและจะลดลงในปีนี้ตลาดหุ้นยังมีความท้าทายเพราะผลตอบแทนเทียบกับดอกเบี้ยไม่น่าดึงดูดเท่ายุคดอกเบี้ยต่ำ การหาผลตอบแทนต้องเน้นไปที่การคัดเลือกหุ้นที่โดดเด่น”
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.ตราสารหนี้ทุกประเภท ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้บริษัทเอกชนที่ความเสี่ยงขาลงจำกัดเพราะวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยสิ้นสุดลง เปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนทั้งจากดอกเบี้ยรับ (Coupon) ที่สูงกว่าอดีต และราคาที่จะเพิ่มขึ้น (Capital gain) เมื่อดอกเบี้ยตลาด (Market yield) ปรับลดลง
2.หุ้นเติบโต (Growth stock) ทั่วโลก ที่ราคาถูกกดดันอย่างหนักจากการขึ้นดอกเบี้ย ตอนนี้ดอกเบี้ยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว หุ้นเติบโตที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี การสื่อสารแบบดิจิทัล และการบริโภคออนไลน์
3.หุ้นเอเชียที่ราคายังไม่ขึ้น (Laggard stock) ทั้งไทย จีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพเติบโตสูงด้วยแรงหนุนจากผู้บริโภคจำนวนมหาศาลและการเป็นฐานผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก
4. Hedge Funds ที่เน้นสร้างผลตอบแทนทั้งในตลาดขาขึ้นและลง ผ่านกลยุทธ์ Long/short คือซื้อสินทรัพย์ที่คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นและขายชอร์ตสินทรัพย์ที่คาดว่าราคาจะลดลง โดยเน้นสินทรัพย์ในตลาดใหญ่และสภาพคล่องสูง เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลหลัก
และ 5.สินทรัพย์นอกตลาด (Private Asset) ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และอสังหาริมทรัพย์ ที่ราคาเปลี่ยนแปลงตามพื้นฐานของสินทรัพย์และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่อ่อนไหวตามข่าวรายวันทำให้มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต่ำ จึงเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยลดความผันผวนให้มูลค่ารวมของพอร์ตได้
จัดพอร์ตการลงทุน
แบ่งเงินลงทุนเพื่อสะสมและต่อยอดความมั่งคั่งในระยะยาวออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกประมาณ 50-70% ให้ลงทุนเป็นพอร์ตหลัก (Core portfolio) โดยเลือกกองทุนผสมแบบ Risk-based approach ที่กระจายความเสี่ยงทั้งในหุ้น ตราสารหนี้โภคภัณฑ์ รวมทั้งค่าความผันผวน (VIX Index) ที่ใช้หลักการจัดการลงทุนอย่างเป็นระบบ มีกฎเกณฑ์ชัดเจน ไม่ขึ้นกับการคาดการณ์ของตลาดหรือผู้จัดการกองทุน
และส่วนที่ 2 ประมาณ 30-50% เป็นพอร์ตเสริม (Satellite portfolio) ลงทุนในหุ้น เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทั่วโลก หุ้นจีน หุ้นอินเดีย หุ้นเวียดนาม และหุ้นไทย ตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนในเอเชีย
ประมุข มาลาสิทธิ์ Chief Investment Officer (CIO) ธนาคารกรุงไทย
เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลงและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ประเทศมหาอำนาจ อัตราดอกเบี้ยประเทศเศรษฐกิจหลักจะทยอยลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจโลกเติบโตน้อยลงจากเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯที่จะลดความร้อนแรง
“ถึงแม้ว่าเฟดจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้แล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังสูงกว่าเป้าหมายไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เฟดต้องคงอัตราดอกเบี้ยสูงและอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยมากนัก ซึ่งผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ยังยืนสูงจะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ”
ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ผลลัพธ์อาจกระทบกับแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจและเพิ่มความตึงเครียด
นอกจากนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนที่ปัจจุบันการฟื้นตัวยังคงอ่อนแอมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวกจากการที่ธนาคารกลางอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเร็วกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงมาก สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ในภาพรวมมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง โดยเฉพาะจีนที่แรงส่งจากการเปิดประเทศหลังโควิดเริ่มหมดลงและยังมีความเสี่ยงด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ฉุดการเติบโตในภาพรวม
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.ตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน ด้วยมุมมองที่ธนาคารกลางประเทศหลักมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลงตาม รวมไปถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะชะลอลงในปีนี้ ตามการบริโภคที่มีสัดส่วนสูงในจีดีพีสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงจากเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง และการกลับมาชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของประชากรกว่า 43 ล้านราย
2.ตลาดหุ้นยุโรป ที่นักลงทุนส่วนใหญ่มองข้ามในช่วงที่ผ่านมา แต่มีโอกาสที่จะเป็นม้ามืดในปีนี้ จากการที่ตลาดยุโรปมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอและเงินเฟ้อปรับตัวลงมาก ทำให้มีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นปีนี้ อีกทั้งเงินเฟ้อที่ลดลงยังช่วยทำให้รายได้ที่แท้จริงปรับตัวขึ้นและช่วยสนับสนุนการบริโภค ในแง่ของราคาตลาดปัจจุบันถือว่าไม่แพง
3.ตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ เน้นไปที่ตลาดอินเดีย เวียดนาม ตลาดหุ้นอินเดียมีแรงหนุนจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านเศรษฐกิจที่จีดีพีมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงในระยะข้างหน้า ภาคการผลิตยังคงแข็งแกร่ง และการเมืองที่มีเสถียรภาพ
4.ตลาดหุ้นไทย มีปัจจัยสนับสนุนจากปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยค่อนข้าง Underperform ซึ่งในปีนี้ปัจจัยการเมืองมีความชัดเจนขึ้น และเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ดี และกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนโควิด และค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
และ 5.กองทุนผสม เศรษฐกิจโลกที่ยังผันผวนและไม่แน่นอนสูง การจัดพอร์ตการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ให้เหมาะสม (Asset Allocation) และมีความยืดหยุ่น ซึ่งจะต้องมีการปรับพอร์ตให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
จัดพอร์ตการลงทุน
แนะนำการจัดพอร์ตแบบ “Core and Satellite” โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนใน Core ประมาณ 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เน้นการลงทุนระยะยาว โดยสามารถใช้กองทุนผสมที่เป็นกองทุน Core พอร์ตได้ ส่วน Satellite อีก 30% จะเป็นการลงทุนในระยะสั้น หรือ Tactical allocation เน้นปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะตลาดล่าสุด โดยนักลงทุนสามารถนำสินทรัพย์มาแรงที่กล่าวไปก่อนหน้า มาเป็นสัดส่วนใน Tacticalได้
กิดอน เจอโรม เคสเซล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์เงินฝากและบริหารการลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี
ประเทศไทยสิ่งที่ยังต้องจับตา คือ สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สหรัฐฯและจีน โดยประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีความเสี่ยงหลายประการที่ต้องระวัง ได้แก่ ผลกระทบเชิงบวกจากนโยบายการคลังที่จะค่อยๆจางหายไป เงินออมส่วนเกินของครัวเรือนเริ่มลดลง
ผลของนโยบายการเงินที่เข้มงวดจะเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโต ด้านเงินเฟ้อแม้จะลดลงเร็วกว่าคาด แต่ยังคงผันผวนก่อนที่จะลดลงสู่ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2%
ด้านเศรษฐกิจจีน แม้ว่านโยบายจะออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดหวัง แต่ตลาดหุ้นยังสามารถทรงตัวได้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าภาวะตลาดหมีน่าจะใกล้สิ้นสุดลงแล้ว และเศรษฐกิจจีนยังคงมีเสถียรภาพ นำโดยภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเผชิญความท้าทายในปัญหาสภาพคล่อง
เอกฉันท์ตราสารหนี้ดาวเด่นแห่งปี
“การที่รัฐบาลจีนยังไม่ได้เข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่นั้นสะท้อนว่า รัฐบาลจีนมีเป้าหมายที่จะลดขนาดของภาคอสังหาริมทรัพย์ลง แต่จากขนาดของภาคอสังหาฯที่มีผลต่อเศรษฐกิจ อาจทำให้จีนเผชิญแรงกดดันด้านการเติบโต”
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.ตราสารหนี้คุณภาพดี ยังคงเป็น Product Hero เพื่อสร้างกระแสรายได้ (income) ที่สม่ำเสมอ และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุน พร้อมเป็นเครื่องมือปกป้องพอร์ตในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวได้
2.การลงทุนในหุ้น แนะนำลงทุนในหุ้นปันผล เนื่องจากรายได้จากเงินปันผลจะช่วยสร้างผลตอบแทนรวมให้ดีขึ้น อีกทั้งหุ้นปันผลยังมักจะทนทานกว่าในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
3.หุ้น quality growth โดยคัดเลือกหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานดี งบการเงินแข็งแกร่งและมีโอกาสเติบโต
4.หุ้น global healthcare ที่มีความ defensive เนื่องจากรายได้ไม่ได้ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และยังมีปัจจัยขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างระยะยาว เช่น สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมยาและการรักษาที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มนี้ยังมีความน่าสนใจในระยะยาว
และ 5.กองทุน Multi-Asset ที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลให้กับพอร์ตการลงทุน อีกทั้งไม่พลาดโอกาสในทุกภาวะตลาด
จัดพอร์ตการลงทุน
“Risk First Concept หมายถึง การให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงเป็นอันดับแรก โดยเริ่มต้นจากการ Protect ปกป้องความมั่งคั่ง Build เป้าหมายระยะยาวด้วยการลงทุน และ Enhance เพิ่มพูนความมั่งคั่งให้เติบโต ด้วยแนวทาง Risk First Concept นี้ เราเชื่อมั่นว่าจะช่วยสร้างเส้นทางไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ได้”
ณฤทธิ์ โกสาลาทิพย์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานที่ปรึกษาและบริหารการลงทุนลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร
การปรับสมดุลของเศรษฐกิจสหรัฐฯคืบหน้าอย่างชัดเจน เงินเฟ้อเดือน ต.ค.66 ลดลงมาที่ 3.2% เทียบกับปีก่อนหน้า จากระดับสูงสุดที่ 9.1% ตลาดแรงงานยังคงตึงตัวแต่ลดความร้อนแรงลง ข้อดีคือเป็นการปรับสมดุลจากการลดการจ้างงานใหม่มากกว่าการปลดคน เฟดไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อและน่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในปีนี้
“เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะชะลอตัวลงแต่ยังโตต่อเนื่องและความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลง ปัจจัยหนุนที่สำคัญคือค่าจ้างแรงงานที่เติบโตเร็วกว่าเงินเฟ้อซึ่งจะช่วยหนุนการบริโภคในปีนี้ แนะนำลงทุนเพิ่มทั้งในตราสารหนี้และหุ้น ทำให้น้ำหนักการถือเงินสดลดลงจาก Overweight เป็น Neutral เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดเป็นต้นมา”
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.ตราสารหนี้คุณภาพสูงในต่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากที่สุด เนื่องจาก yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี หุ้นกู้เอกชน Investment Grade และ High Yield สกุลดอลลาร์สหรัฐฯให้ yield ที่ 5.8% และ 8.6% ตามลำดับ ถ้าดูเส้นความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนกับความผันผวนใน 10 ปีที่ผ่านมาเทียบกับเส้นความสัมพันธ์ในปัจจุบันจะเห็นว่าสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ
2.หุ้นตลาดเกิดใหม่เป็นอีกสินทรัพย์หนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีปัจจัยหนุนคือทิศทางผลประกอบการปีนี้ของตลาดเกิดใหม่ที่จะกลับมาฟื้นตัวแรง นักวิเคราะห์ในตลาดคาดว่า กำไรจะเติบโตถึง 19% ส่วน valuation ของหุ้นตลาดเกิดใหม่ก็อยู่ในระดับน่าสนใจโดยซื้อขายบนอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหน่วยใน 12 เดือนข้างหน้าที่ 11.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก 30%
3.หุ้นไทยแม้ว่าในระยะยาวยังมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันตลาดและโอกาสการลงทุนจำกัดกว่าหุ้นทั่วโลก แต่ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่ดีกว่า จึงได้แนะนำเพิ่มน้ำหนักจาก Underweight เป็น Overweight โดยเป็นคำแนะนำ Overweight ครั้งแรกในรอบ 15 ปี เป้าหมายดัชนี SET ณ สิ้นปีนี้ อยู่ที่ 1,600 จุด
4.หุ้นต่างประเทศในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และพลังงาน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์มีทิศทางการเติบโตกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หนุนโดยอุปสงค์ในตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ทโฟน การลงทุนในคลาวด์ของบริษัทขนาดใหญ่ และการลงทุนด้าน AI ส่วนกลุ่มพลังงานน่าสนใจ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบมี upside risk เปิดกว้างขึ้นภายใต้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
และ 5.อสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REIT) มีโอกาสให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม real asset ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยลดลงและเฟดไม่น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ
จัดพอร์ตการลงทุน
การจัดสรรการลงทุนอย่างรอบคอบ ตามแนวทางดังต่อไปนี้ 1.ในส่วนของตราสารหนี้ให้เน้นรายได้มากกว่ากำไรจากราคา ควรมีการลงทุนตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งมีฐานะการเงินที่ทนต่อภาวะดอกเบี้ยสูงได้ เพื่อช่วยสร้างรายได้เพิ่มและลดผลกระทบจากความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย
2.ในภาวะที่ต้นทุนการเงินสูงขึ้น หุ้นที่จะให้ผลตอบแทนดีอย่างสม่ำเสมอคือหุ้นคุณภาพสูง (หนี้น้อย อัตรากำไรสูงและการเติบโตกำไรสม่ำเสมอ)
และ 3.การกระจายการลงทุนใน real asset เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานและสินค้าโภคภัณฑ์ จะช่วยลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและมีโอกาสให้ผลตอบแทนหลังหักลบด้วยเงินเฟ้อที่น่าสนใจ
วิน พรหมแพทย์, CFA ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
เศรษฐกิจโลกจะเติบโตประมาณ 2.9% ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ที่ 3.0% เล็กน้อย โดยภาวะเศรษฐกิจที่โตช้าลงจะเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นนี้ มีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจโลกจะเป็นรูปแบบ Soft Landing
อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่นักลงทุนทั่วโลกจับตาดูคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ซึ่งในขณะนี้ได้รับการคาดหมายว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่สิ่งที่นักลงทุนยังกังวลต่อเนื่องคือ อัตราดอกเบี้ยนี้จะอยู่ระดับสูงไปนานกว่าที่คาด (High for Longer) และต้องไปลุ้นกันว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วแค่ไหน ซึ่งถ้าดูจาก Fed Dot Plot ล่าสุด ส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้
“ดอกเบี้ยเฟดได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในหลายสินทรัพย์กลุ่มหลัก ได้แก่ ตราสารหนี้โลก และตราสารทุนโลก รวมทั้งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนรายกลุ่มหรือรายภูมิภาค อาทิ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นยุโรป และหุ้นญี่ปุ่น”
สินทรัพย์น่าลงทุนมาแรง 5 อันดับ
1.ตราสารหนี้โลก จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและหุ้นกู้อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี การลงทุนในตราสารหนี้จึงมีความน่าสนใจมาก
2.ตราสารทุนโลก สถิติย้อนหลังประมาณ 40 ปี พบว่า หลังจากที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุดแล้ว ตลาดหุ้นมักจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก จึงขอแนะนำให้ทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลก
3.หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มที่จะยังมีกำไรเติบโตได้ดีกว่ากลุ่มอื่นในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า และน่าจะเป็นหุ้นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ดีในภาวะดอกเบี้ยขาลง
4.หุ้นยุโรป แม้เศรษฐกิจยุโรปอาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก แต่ระดับ Valuation ที่ลงมาซื้อขายกันที่ -2 SD ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปอยู่ในภาวะที่ “ถูกมาก” มี downside risk ต่ำ
และ5.หุ้นญี่ปุ่น ได้รับประโยชน์จากการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลที่ผลักดันโดยทางการ ส่งเสริมให้ลดการถือหุ้นไขว้ และให้จ่ายกำไรสะสมออกมาเป็นเงินปันผลมากขึ้น
จัดพอร์ตการลงทุน
แนะนำให้จัดพอร์ตแบบ Core-Satellite โดยมีหลักคิดดังนี้ Core Port แกนหลักของพอร์ตลงทุน ควรมีสัดส่วนมากกว่า 80% กระจายลงทุนให้หลากหลายใน 2 มิติ คือ กระจายหลายสินทรัพย์ ได้แก่ พันธบัตร หุ้น สินทรัพย์ทางเลือก ฯลฯ และกระจายหลายประเทศ ควรเป็นการกระจายลงทุนทั่วโลก เป็นพอร์ตลงทุนระยะยาว มีระยะเวลาการลงทุนตั้งแต่ 5-7 ปีขึ้นไป
ส่วน Satellite Port ควรมีสัดส่วนไม่เกิน 20-30% เราสามารถใช้สัดส่วนนี้ในการเลือกลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง เช่น เลือกกลุ่มสินทรัพย์ ภูมิภาค ประเทศ หรือกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เราได้ทำการบ้านมาแล้วว่าน่าจะให้ผลตอบแทนดีในระยะสั้น-กลางได้ ดังนั้น การเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม หรือหุ้นโตเร็ว.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่