เปิดจุดตาย "โครงการแจกเงินดิจิทัล-พ.ร.บ.กู้เงินรัฐ" เศรษฐกิจไทยวันนี้ "วิกฤติหรือไม่"!

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดจุดตาย "โครงการแจกเงินดิจิทัล-พ.ร.บ.กู้เงินรัฐ" เศรษฐกิจไทยวันนี้ "วิกฤติหรือไม่"!

Date Time: 27 พ.ย. 2566 06:10 น.

Summary

  • เริ่มต้น...จากคำถามและเสียงคัดค้านของนักวิชาการต่อโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งใช้เม็ดเงินสูงถึง 560,000 ล้านบาท ต่อเนื่องจนกลายเป็นข้อถกเถียงถึง “ความจำเป็นเร่งด่วน และการใช้ยาแรง เพื่อกระตุกเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามายาวนานจากยุคโควิด-19”

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

เริ่มต้น...จากคำถามและเสียงคัดค้านของนักวิชาการต่อโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งใช้เม็ดเงินสูงถึง 560,000 ล้านบาท ต่อเนื่องจนกลายเป็นข้อถกเถียงถึง “ความจำเป็นเร่งด่วน และการใช้ยาแรง เพื่อกระตุกเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามายาวนานจากยุคโควิด-19”

โดยความเห็นของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล มองว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะ “วิกฤติ” เพราะโตต่ำมากๆ ต่อเนื่องมาเป็น 10 ปี ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และลดทอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเหมือน “สึนามิ” ลูกใหญ่ที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ปิดจุดอ่อนการเกิดเศรษฐกิจถดถอย จากผลกระทบค่าครองชีพสูง และเศรษฐกิจโลกชะลอ

ในทางตรงกันข้าม หากมองเทียบกับ “หลุมดำ” ในยุคที่โควิด-19 กัดกินความมั่งคั่งคนไทยให้หายวับไป การกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยอยู่ในช่วงก่อนโควิดได้อีกครั้งนั้น นักวิชาการมองว่า “เป็นสิ่งที่ควรจะพอใจ” แต่ก็ยอมรับเช่นกันว่า “เศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าที่คาดไว้” ขณะที่หากถามคนเดินถนนว่า “เศรษฐกิจไทยวิกฤติหรือไม่” คำตอบคือ “เงินในกระเป๋าค่อนข้างวิกฤติ”

การถกเถียงในเชิงตัวเลข เสถียรภาพ และวิถีกายภาพของคนหาเช้ากินค่ำ จึงกลายเป็นใจความสำคัญในการค้นหาความจริงว่า “เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติหรือไม่” ท่ามกลางเงื่อนไขของการออก พ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาล เพื่อนำมาทำโครงการแจกเงินดิจิทัล ซึ่งในทางกฎหมาย “จะกู้ได้เมื่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤติเท่านั้น”

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เสาะหา 3 ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผ่านประสบการณ์ในโลกความจริงของ “วิกฤติเศรษฐกิจไทย” หลายครั้งที่ผ่านมา เพื่อหานิยามของเศรษฐกิจไทยวันนี้ว่าวิกฤติหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไร

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

ดนุชา พิชยนันท์

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

จากการแถลงตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3 ปี 2566 เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2566 ที่ 1.5% ขยายตัว พร้อมทั้งได้ประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2566 ขยายตัว 2.5% และคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 3.2% ในมุมมองของ สศช. เห็นว่า “เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง”

“ขณะที่แม้ว่า จีดีพีไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 1.5% น้อยกว่าที่คาดไว้ แต่เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.8% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ขยายตัวจากไตรมาส 2 ที่ 0.8% รวม 9 เดือนแรกขยายตัว 1.9%”

ถามว่า “วิกฤติ” หรือไม่ ต้องบอกว่า “หลังโควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้ แต่มีปัญหาเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเร็วกว่าที่คาด จนกระทบการส่งออกไทย แต่เศรษฐกิจภายในขยายตัวได้ดี โดยรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้

แต่ถ้าต้องการให้เศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงขึ้น ก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต เพื่อให้ไทยเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ ไม่เช่นนั้น การขยายตัวจะคงอยู่ประมาณนี้ที่ 3%

เลขา สศช.ได้ตอบคำถามที่ว่า “ทำไมการคาดการณ์เศรษฐกิจของ สศช.ถึงได้เปลี่ยนตลอด และเป็นการปรับเป้าลดลง” เช่น การแถลงข่าวจีดีพีไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 คาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 66 ที่ 2.7-3.7% ต่อมาการแถลงข่าวจีดีพี ไตรมาสสอง ปี 2566 ลดเป็น 2.5-3.0% และครั้งล่าสุดนี้ปรับเป็นปีนี้ขยายตัว 2.5% ว่า “เพราะตอนต้นปีเราก็ไม่รู้ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจโลกจะมารวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทย”

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัว 3.2% ยังไม่ได้รวมโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตเพราะยังรอคำวินิจฉัยทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องรอดูว่าจะใช้วงเงินเท่าไหร่และดูรูปแบบของการใช้เงิน ร้านค้า ประกอบด้วย

ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ต้องการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มากระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวหรือไม่นั้น “การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต้องเร่งแก้ปัญหาส่งออกและทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เหมือนตอนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยทำโครงการคนละครึ่ง ในตอนนั้น สศช.ได้ประเมินออกมาตรงกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า โครงการคนละครึ่งได้ช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ไม่ได้เป็นโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ”

สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น คือ การปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร รวมทั้งเร่งผลักดันการท่องเที่ยว การส่งออกผ่านการขยายการเจรจาความตกลงการค้าเสรีให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สนับสนุนภาคส่งออกให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 เสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังอย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในช่วงฟื้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและแรงกดดันทางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

โดยควรให้ความสำคัญต่อการเพิ่มพื้นที่ในการดำเนินนโยบายให้มีความเพียงพอ เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป เช่น ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะ 44% ต่อจีดีพี แต่พอโควิด-19 มา รัฐบาลต้องกู้เงินก้อนใหญ่ ทำให้ช่องว่างในการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มได้อีก 16% ต่อจีดีพีเร็ว ขณะเดียวกัน เกิดความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หากขยายวงกว้างออกไป รัฐบาลจะต้องมีพื้นที่ทางการคลังที่พร้อมรองรับความเสี่ยงด้วย

ธนวรรธน์ พลวิชัย
ธนวรรธน์ พลวิชัย

ธนวรรธน์ พลวิชัย

อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงวิกฤติหรือไม่ “จะบอกได้ต้องให้คำนิยามก่อนว่า “วิกฤติ” คืออะไร เพราะแต่ละฝ่าย คือ รัฐบาล นักวิชาการ ประชาชน หรือคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ที่จะพิจารณาว่า จำเป็นต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หรือไม่ ต่างมีคำนิยามตามมุมมองของตนเอง”

ทั้งนี้ ตามกฎหมาย “วิกฤติ” ต้องจำเป็น และเร่งด่วน แต่หากดูจากนิยามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยรายงานไว้ในการประชุม World Economic Forum ได้พูดถึง “วิกฤติ” 3 กรณี คือ

1.วิกฤติการเงิน ที่มักมีเหตุการณ์สถาบันการเงินล้ม จนทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาตามมา เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติซัพไพรม์ หรือ Hamburger Crisis ของสหรัฐฯ หรือปัญหาหนี้สาธารณะของ PIGS (โปรตุเกส อิตาล กรีซ สเปน) ที่กระทบสถาบันการเงิน จนค่าเงินยูโรแตก 2.วิกฤติที่มาจากผลของตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่สูงเกิน 5% ของจีดีพี ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับเวียดนาม ทำให้ความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์หายไป และ 3.วิกฤติอื่นๆ เช่น ภัยพิบัติ โรคระบาด โดยทั้ง 3 กรณี ส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ หรือโตติดลบ คนตกงานจำนวนมาก จึงต้องการการฟื้นฟู เยียวยา เช่น ในช่วงโควิด รัฐบาลทุกประเทศอัดฉีดเงินให้คนใช้จ่าย ซึ่งของไทยก็มีช็อปดีมีคืน คนละครึ่ง เป็นต้น

“นิยามของนายกฯ และรัฐบาล เศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤติจากการติดลบ แต่วิกฤติจากการฟื้นตัวช้า โตต่ำกว่าประเทศอื่น ส่วนมุมของประชาชน ก็แล้วแต่ประสบการณ์แต่ละคน แต่ถ้าให้เทียบกับช่วงโควิด หลายคนน่าจะบอกว่า ตอนนี้เบากว่า ถ้าถามในมุมวิชาการ อย่างกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติ หรือสภาพัฒน์ ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้วิกฤติ เพียงแค่ฟื้นตัวช้า ขณะที่กฤษฎีกา ไม่สามารถก้าวล่วงได้ แล้วแต่จะเลือกตามมุมมองใด”

กรณีที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า มองว่า ช่วง 10 ปีหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือตั้งแต่ปี 42-51 เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพเติบโตได้โตที่ 4.8% แต่พอมาปี 52-61 เติบโตเฉลี่ย 3.3% เพราะมีปัญหาการเมือง และซ้ำเติมด้วยน้ำท่วมใหญ่ หลังจากนั้นโตต่ำมากจนถึงติดลบ เพราะสงครามการค้า (เทรดวอร์) สงครามรัสเซีย-ยูเครน โควิด การเลือกตั้ง

ที่ล่าช้าของไทย โดยปี 62 โต 0.3%, ปี 63 ลบ 6.1%, ปี 64 โต 1.5% และปี 65 โต 2.6% ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกเป็นหลัก ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว เมื่อโลกมีวิกฤติ เศรษฐกิจไทยจึงชะลอลงหนัก และเมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน จึงต้องการการกระตุ้น

สำหรับการแก้ปัญหาโดยวิธีธรรมชาติ คือ รอให้เศรษฐกิจโลกฟื้น ซึ่งจะทำให้การส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตาม นอกจากนี้ รัฐบาลต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ บริหารค่าเงินที่เอื้อต่อการส่งออก เปิดตลาดสินค้าให้มากขึ้น พัฒนาการค้าชายแดนและผ่านแดนให้คล่องตัว หนุนการท่องเที่ยวปลอดภัย ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี)

แต่ไฮไลต์การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คือ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะเป็นพระเอกกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ถือเป็นจุดเสี่ยงด้วย เพราะถ้ากฤษฎีกาพิจารณาแล้วว่า รัฐบาลไม่สามารถออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทได้ นายกฯและรัฐบาลจะลาออกหรือไม่ จะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองตามมา

แต่หากกฤษฎีกา พิจารณาแล้วสามารถทำได้ ก็ติดปัญหาที่รัฐสภาอีกว่า จะให้ผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยุบสภา หรือรัฐบาลจะลาออกเองหรือไม่ แต่ถ้าผ่าน ทุกอย่างก็จบ สามารถทำโครงการนี้ต่อไป

“แต่ถ้าทำได้จริง เกิดคำถามอีกว่า คุ้มค่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลจะใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับทำโครงการเดียว ถ้าไม่นับรวมรับจำนำข้าวที่ผ่านมา แม้มีจุดเด่นที่คนไทยได้ใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจปีหน้าโตได้ 4-5% แต่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวหรือไม่ ยังไม่ชัดเจน ต่างกับโครงการลงทุนต่างๆ ที่เงินลงไม่พร้อมกัน แต่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจในระยะยาว”

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนมุมมองของประชาชน การแจกเงินดิจิทัล จะเป็นมหกรรมชุบชีวิตครั้งใหญ่จะดีกว่า คือ เอาเงินไปสร้างงาน สร้างอาชีพ ซื้ออุปกรณ์ทำมาหากิน เช่น รถเข็น เครื่องสูบน้ำ หรือลงทุนสร้างธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ ล้างหนี้ครัวเรือน ก็จะทำให้ประชาชน และเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนดีกว่าแค่กระตุ้นการบริโภคอย่างเดียว

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ไพบูลย์ นลินทรางกูร

ไพบูลย์ นลินทรางกูร

นายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย

ส่วนมุมมองด้านตลาดทุน เห็นสอดคล้องกันว่า “เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ได้ชะลอตัวรุนแรง แต่ยังคงขยายตัว และขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 8 ไตรมาส นอกจากนั้น ไทยไม่มีปัญหาสถาบันการเงิน ไม่มีปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และไม่มีปัญหาการชำระหนี้ต่างประเทศ”

โดยทั้ง 3 ปัจจัยนี้ มักเป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต อีกเงื่อนไขสำคัญของวิกฤติ คือ การว่างงานต้องสูงแบบก้าวกระโดด การบริโภคต้องหดตัว และการลงทุนเอกชนต้องหยุดชะงัก ซึ่งไม่ได้เกิดในไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า แข็งแรง ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาก จีดีพีขยายตัวเฉลี่ย 1.9% ต่อปี ต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ควรขยายตัวได้ที่เฉลี่ย 4% ต่อปี

สำหรับปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทย คือ การพึ่งพากำลังซื้อภายนอกในสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงถึง 65-70% ทำให้การขยายตัวขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นหลัก ในอดีตที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่องถึง 4-5% ต่อปี การพึ่งพากำลังซื้อภายนอกอาจเป็นนโยบายที่ถูกต้อง แต่ระยะหลังที่เศรษฐกิจโลกเติบโตช้ามาก รวมทั้งการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ในหลายประเทศ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ล้วนเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

“ผมมี 3 ข้อเสนอแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือ 1.เร่งสร้างกำลังซื้อในประเทศ เพื่อลดพึ่งพากำลังซื้อภายนอก อาจฟังดูง่าย แต่แก้ได้ยากมาก เพราะติดหลายปัญหาเชิงโครงสร้าง และแก้ไม่ได้ด้วยการแจกเงิน หนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงกว่า 90% คือ โจทย์ใหญ่ที่สุด และเป็นกับดักเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ”

โดยปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง มาจากการมีรายได้ไม่พอใช้จ่าย คือ ขาดความรู้ทางการเงิน และขาดวินัยในการออม รัฐบาลแก้ไขได้ทันทีด้วยการยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินเป็น “วาระแห่งชาติ” และปลูกฝังการออมระยะยาว ด้วยการใช้นโยบายภาษีเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยออมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องปฏิรูประบบการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้คนไทยมีกำลังซื้ออย่างยั่งยืน ส่วนการเปลี่ยนสถานะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ ก็เป็นอีกหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาที่เร็วและตรงจุดที่สุด อีกทั้งไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐ

2.ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันในอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศ โดยเฉพาะสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนการใช้นโยบายภาษีเป็นแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเพิ่มงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเป็นแนวทางที่ควรทำ และเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวที่ได้ผลที่สุด

3.ไทยต้องใช้ประโยชน์จากตลาดทุนให้เต็มประสิทธิภาพ ที่ผ่านมา ภาครัฐมักไม่ค่อยเห็นความสำคัญในการส่งเสริมตลาดทุนเท่าที่ควร ทั้งที่ตลาดทุน คือ แหล่งทุนที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศ

“การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุน ThaiESG คือ จุดเริ่มต้นที่ดี หวังว่า ในอนาคตจะได้เห็นการสนับสนุนแนวทางนี้เพิ่มขึ้นอีก และถึงเวลาแล้วที่ รัฐวิสาหกิจควรระดมทุนในตลาดทุน เพื่อช่วยลดหนี้สาธารณะที่พุ่งเกิน 60%”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ