นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จากเดิม 3.6% เป็นผลมาจากปัจจัยลบ คืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาส 2/66 ชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ การส่งออกไทยยังคงหดตัว 2% จากเดิมคาดโต 1.2%, อัตราเงินเฟ้อลดเหลือ 1.8% จากเดิมคาด 3.0%, หนี้ครัวเรือน ยังอยู่ในระดับสูงที่ 89.5% และยังมีปัญหาความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 67, สถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงกำลังซื้อประชาชนลดลง การใช้จ่ายของภาครัฐลดลงอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการวีซ่าฟรีให้แก่นักท่องเที่ยวจีน และคาซัคสถานชั่วคราว 5 เดือน, การบริโภคภาคเอกชนสูงขึ้น, การนำเข้าสินค้าลดลงและรัฐบาลชุดใหม่มีมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชน และต้องติดตามนโยบายรัฐบาลในช่วงใกล้ปีใหม่เพิ่มเติมที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชนและการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ปี 67 ประเมินเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ โดยคาดขยายตัวได้ 4.5-5% หรือค่ากลาง 4.8% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นมาอยู่ที่ 2.5-3% โดยหวังว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเติบโต คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 35 ล้านคน อีกทั้งการบริหารงานของรัฐบาล 4 ปีจากนี้หวังว่าจะทำให้หนี้ครัวเรือนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ของจีดีพี และมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เกษตรกร และธุรกิจ”
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ กล่าวว่า ศูนย์ได้จัดทำผลสำรวจทัศนะต่อมาตรการนโยบายลดค่าครองชีพ และประเด็นความกังวลต่างๆในปัจจุบันและอนาคต พบว่าปัจจุบันประชาชนกังวลมากในเรื่องราคาอาหาร ของใช้จำเป็น ค่ารถสาธารณะ รองลงมา คือ ภาระหนี้สิน ภาวะเศรษฐกิจประเทศ ส่วนใน 6 เดือนข้างหน้า กังวลมากในเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมือง รองลงมาเป็นค่ารถสาธารณะ และราคาน้ำมัน ขณะที่ลดราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 2 บาทนั้น ส่วนใหญ่ยังใช้น้ำมันเท่าเดิม และเงินที่เหลือจากราคาน้ำมันที่ลดลงประชาชนนำเงินไปใช้อย่างอื่นเพิ่มขึ้น ส่วนการลดค่าไฟ หน่วยละ 46 สตางค์ ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้ไฟเท่าเดิม
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ส.ค.2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อไป
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลการสำรวจ ส.อ.ท.โพล (FTI CEO Poll) ภายใต้หัวข้อ “นโยบายรัฐบาลใหม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมแค่ไหน” โดยผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า นโยบายของรัฐบาลมีหลายเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หากสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจคณะกรรมการ ส.อ.ท. ส่วนใหญ่คิดว่านโยบายของรัฐบาล สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมได้ในระดับปานกลาง เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการบ้านหลายเรื่องที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัว
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ให้ความสนใจและมองว่านโยบายที่จะสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านต่างๆ ได้ เช่นในส่วนของมาตรการเร่งด่วนที่ให้ความสำคัญกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและปรับโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ เป็นลำดับแรก ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับการยกเลิกและปรับปรุงกฎหมายที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้ เป็นลำดับแรก.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่