น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยถึงนโยบายและการบริหารงานภายหลังรับตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2566 เป็นต้นมา ว่า ตอนนี้อยู่ในยุคที่เรียกว่า New ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นยุคใหม่ (New era) โลกใหม่ (New world) และเราต้องมีกรอบความคิดใหม่ เพราะทุกสิ่งเกิดขึ้นโดยที่เราคาดเดาไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลง บางทีมีปัจจัยที่นึกไม่ถึง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะโลก ณ ปัจจุบัน ประชากรในโลกเชื่อมโยงกันโดยดิจิทัล ทุกคนรู้ซึ้งกันและกันอย่างถ่องแท้ ทุกคนก็รู้เหมือนกันหมดว่าใครขยับไปทางไหน ทฤษฎีทางการตลาดที่ ททท.เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักจะต้องเปลี่ยนแปลงโดยเร็วและท้าทาย
“การคิดการตลาดยุคใหม่ๆ ททท.ต้องไม่อยู่ในคอมฟอร์ตโซนต้องไปพร้อมกันทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ และไม่อยากให้มีพรมแดนของตลาดออนไลน์และตลาดออฟไลน์ คนที่เก่งและยืนได้แข็งแรงและวิ่งเร็วที่สุด คือคนที่ทลายกำแพงความคิดด้านการตลาดได้”
สานต่อกลยุทธ์ MOVE ไปสู่ PASS
จึงเป็นที่มาของการสานต่อกลยุทธ์ MOVE ของนายยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการ ททท. ซึ่งได้ทำมาดีอยู่แล้ว และในฐานะที่เป็นคนหนึ่งในการทำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติตั้งแต่ปีแรกทั้งในเรื่องการตลาด เห็นการขับเคลื่อนทางการตลาด องค์กร การบริหารซัพพลาย และการบริหารดีมานด์ ทำให้มีบทเรียนที่ดีว่าสิ่งที่เราเดินมาก็ตอบโจทย์เรื่องของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ดีในระดับหนึ่งมากๆ ทำให้สิ่งต่างๆที่ผู้ว่าการยุทธศักดิ์ ทำมาตลอด 8 ปีได้ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในบทบาทหลัก สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่ง คือ ถ้า ททท.เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ความสำคัญที่จะเน้นย้ำในปีต่อไปคือการใช้กลยุทธ์ PASS
ผู้ว่าการ ททท.กล่าวต่อไปว่า กลยุทธ์ PASS ประกอบด้วย P : Partnership 360 องศา หรือการหาพันธมิตร 360 องศา ประสานความร่วมมือแบบรอบทิศอย่างมีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อ คือ ทำให้ ประเทศไทยยืนหนึ่งในเรื่องของรายได้ จำนวนและคุณภาพของนักท่องเที่ยว ททท.ต้องมีพันธมิตร ทั้งใน และนอกอุตสาหกรรมที่เข้ามาร่วมองคาพยพเดียวกัน และทั้งในและต่างประเทศต้องยึดหลักเดียวกัน เช่น สำนักงานททท.ในต่างประเทศ จะดูแค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้โอเปอเรเตอร์ จะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของอินฟลูเอนเซอร์ และในหลายๆเรื่องเพื่อสร้างพลังส่งเสริมการตลาดในประเทศและทั่วโลก
นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมแกร่ง
A : Accelerate Access to Digital World ททท.ต้องเร่งรัดผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรทั้งการตลาดและการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งประชากรในโลกดิจิทัลมีบทบาทสำคัญอย่างมาก เป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม เขาจะตามคนที่เขาอยากจะตามและจะนำเมื่อมีความคิดที่แตกต่าง และได้เผชิญอะไรที่ใหม่ๆ การซื้อใจประชากรที่อยู่ในโลกออนไลน์ให้ได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเราจะต้องเอาโลกออนไลน์มาประสานกับโลกของความเป็นจริงอย่างไร้รอยต่อ
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยมีกิจกรรมวัฒนธรรม เทศกาล งานประเพณีต่างๆก็สามารถใช้ดิจิทัลในเชิงสร้างสรรค์เข้ามาขับเคลื่อนเลยออกมาเป็น Inno-Culture Tourism หรือวัฒนธรรมการท่องเที่ยว เป็นการเอาเรื่องของงานประเพณี มาผูกติดกับวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ออกแบบมาในรูปของการดีไซน์กิจกรรมใหม่ในโลกดิจิทัล และไปเชื่อมเกี่ยวกับกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆให้ไกลไปทั่วโลก ทุกอย่างจะไม่ใช่แค่เราจัดแล้วจบ แต่จัดแล้วต้องกระจายต่อไปในโลกออนไลน์ได้อยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ จะขยายความเชื่อมเกี่ยวไปยังนักท่องเที่ยวในทุกมิติ เช่น ตอนนี้คนที่เดินทางมาประเทศไทยในครั้งแรกอาจจะเป็นนักธุรกิจ พ่อค้า นักลงทุน แต่เราต้องทำให้การเข้ามาในครั้งที่สองมาในฐานะนักท่องเที่ยว จึงต้องร่วมมือกับพันธมิตรให้รอบด้านด้วย
กลุ่มวัฒนธรรมย่อย “ผู้ทรงอิทธิพล”
น.ส.ฐาปนีย์กล่าวว่า สำหรับตัวต่อไปคือ S : Sub-Culture Movement จะให้ความสำคัญสุดๆเรื่องของกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่จะกลายเป็นนักท่องเที่ยวที่ทรงอิทธิพลกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและจะสร้างความแตกต่างในการเป็นผู้นำทางการท่องเที่ยว เป็นอภิมหาอำนาจทางการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มคนที่มีความชื่นชอบ เข้าใจ และมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน คุยภาษาเดียวกัน และใช้ช่องทางดิจิทัลในการสื่อสารระหว่างกัน ถ้าช่องทางนี้จุดติด เวลาเขาเคลื่อนไปไหนจะเคลื่อนที่เร็วและแรง
โดยกลุ่มเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มย่อย ที่แตกมาจาก Mass และ Niche สมมติคนท่องเที่ยว แบบอนุรักษ์เป็นกลุ่ม Mass พอมาเป็น Niche ก็เป็นท่องเที่ยวอนุรักษ์แบบอยากไปป่า แต่อาจมี Sub-Culture ที่อยากไปป่าที่ได้รับการรับรอง จากยูเนสโก หรือเป็นป่าที่เหมาะสำหรับดูดาว ซึ่ง ททท.ต้องหาคนกลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด
ส่วนตัวสุดท้ายคือ S : Sustainably NOW การสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำคัญมากๆ ซึ่งคนใน ททท.ก็ต้องมีความคิดไปสู่แนวทางนี้ และต้องร่วมมือหาพันธมิตรจากภายนอก ซึ่งในอีก 2 ปี หรือปี 2568 ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มาร่วมงานกับ ททท.ต้องได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) ซึ่งมีการมอบดาวให้ผู้ประกอบการ คือ 3 ดาว 4 ดาว และ 5 ดาว ตัวอย่าง ระดับ 3 ดาวเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องทำอยู่แล้ว ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจก การคำนึงถึงความปลอดภัย และการร่วมมือกับหลายภาคส่วน เชื่อว่าในปี 2568 จะมีผู้ประกอบการได้รับดาวไม่ต่ำกว่า 80%
“การบริหาร ททท.จะต้องขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด หรือ TAT Top Form แต่ไม่ได้โดดเด่นคนเดียว แต่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่ง โดยเชื่อมเกี่ยวกับพันธมิตรและจะมีการไปคอลแลปส์กับกูเกิล ยูทูบ และจะไม่ทำแค่กูเกิล ประเทศไทย แต่จะไปหาโอกาสดีๆไปขยายความเชื่อมเกี่ยวกับบริษัทแม่ในต่างประเทศด้วย”.