เอกชนฝากความหวัง "นายก-รัฐบาลใหม่" นำนาวาเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมโลก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนฝากความหวัง "นายก-รัฐบาลใหม่" นำนาวาเศรษฐกิจไทยฝ่ามรสุมโลก

Date Time: 4 ก.ย. 2566 05:45 น.

Summary

  • หลังจากที่รอคอยกันมายาวนาน ตั้งแต่การประกาศยุบสภาช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ และ “รัฐบาล เศรษฐา 1” ฟิตเต็มที่พร้อมเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการประกาศลดค่าไฟทันที ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก รวมทั้งนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ที่ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจรอคอย

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

หลังจากที่รอคอยกันมายาวนาน ตั้งแต่การประกาศยุบสภาช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ และ “รัฐบาล เศรษฐา 1” ฟิตเต็มที่พร้อมเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ทั้งการประกาศลดค่าไฟทันที ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก รวมทั้งนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าสตางค์ดิจิทัล ที่ทั้งประชาชน และภาคธุรกิจรอคอย

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาเก่าที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทบต่อคำสั่งซื้อในภาคส่งออก หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ นักท่องเที่ยวจีน และรายได้จากท่องเที่ยวโดยรวมก็ยังไม่ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ ยิ่งไปกว่านั้น การขาดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่ยาวนาน กำลังส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน

การที่ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” มาจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีวิสัยทัศน์ที่ดี สามารถรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ จึงกลายเป็น “ความคาดหวัง” สูงสุด ให้เร่งเดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจากความซบเซาให้รุ่งเรืองอีกครั้ง “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ ในตลาดเงินตลาดทุน อุตสาหกรรม และการค้า เพื่อสะท้อนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข นอกเหนือจากเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

สนั่น อังอุบลกุล
สนั่น อังอุบลกุล

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

รัฐบาล “เศรษฐา 1” จะเห็นภาพการผสมผสานระหว่างรัฐมนตรีเก่า ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และการบริหารงานในกระทรวงต่างๆ และรัฐมนตรีใหม่ ที่มีไฟ และพร้อมขับเคลื่อนนโยบายตามที่นำเสนอไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ได้จัดวางตัวบุคคลไว้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ

“หลายกระทรวงปรับเปลี่ยนบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำหน้าที่ บางกระทรวงมีบุคคลที่เคยบริหารกระทรวงดังกล่าวมาก่อน ทำให้บริหารงานต่อได้ทันที และยังมีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มเติม ภาคเอกชน หวังว่าจะขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เป็นประเด็นเร่งด่วนในขณะนี้”

สำหรับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หอการค้าไทย ได้ระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และหอการค้าต่างประเทศ เพื่อจัดทำ Priority Issues หรือข้อเสนอเร่งด่วนของภาคเอกชน ที่จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ และเตรียมเสนอในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อให้รัฐบาลนำไปพิจารณาแก้ไข และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้

โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งทำทันที ได้แก่ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชน ทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า รวมถึงแก้ไขปัญหาหนี้ผู้ประกอบการและหนี้ครัวเรือน ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

และที่สำคัญ หากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หลุดเป้าหมายขยายตัว 3% ต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) เพื่อดึงเม็ดเงินเข้ามาช่วยเสริมในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อ จัดทำงบประมาณรายจ่าย 67 และสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อการส่งออก

พร้อมกันนั้น จะเสนอให้ปัดฝุ่นความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ทั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.ส่วนกลาง) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ กรอ.ระดับหน่วยงาน เช่น กรอ.พาณิชย์ กรอ.พลังงาน และในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะกลาง และระยะยาวอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เป้าหมายเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5% มีความเป็นไปได้

สำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 560,000 ล้านบาท ประเมินว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 รอบ คิดเป็นเงิน 1-1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะช่วยดึงกำลังซื้อในประเทศให้กลับมาคึกคัก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีหน้าขยายตัวได้ราว 5% ภายใต้เงื่อนไขส่งออกขยายตัว 3-5%

นอกจากนั้น รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆให้มากและเร็วที่สุด เพื่อขยายโอกาสส่งออก โดยเฉพาะ 4 ประเทศ ที่หอการค้าฯปักหมุดให้เป็น Strategic Counties ได้แก่ จีน ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม อินเดีย รวมถึงรักษานักลงทุนเดิมอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“หลังจากที่ประเทศไทยได้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ก็ช่วยบรรเทาความกังวลและคลี่คลายสถานการณ์ภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากคุณเศรษฐา เป็นนักธุรกิจที่มีประสบการณ์และความสามารถในการทำงาน อีกทั้งมีวิสัยทัศน์ดี เข้าใจทั้งในภาคเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก มีมุมมองต่อการรับมือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และทราบความต้องการนักธุรกิจและประชาชนที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆได้ตรงจุดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยบริหารประเทศในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยยังคงผันผวนและเปราะบาง”

ส่วนโฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ หลายชื่อก็โอเคเคยเห็นผลงานมาก่อน แต่หลายชื่อก็เป็นคนใหม่ยังไม่เคยเห็นผลงาน และบางรายชื่อก็ดูเหมือนไม่ค่อยตรงกับความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตนเอง ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ของรัฐบาลผสม 11 พรรค มีข้อจำกัดทางด้านข้อตกลงเรื่องโควตาการจัดสรรของแต่ละพรรค แต่จุดเด่นของพรรคเพื่อไทย คือสามารถผลักดันให้ทีมเศรษฐกิจพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ไม่มีเวลาฮันนีมูน เวลานี้ภาคเอกชนต่างจับตา ครม.ชุดใหม่ ของคุณเศรษฐา และอยากให้เร่งเข้ามาทำงานทันที เนื่องจากตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของไทยเติบโตเพียง 1.8% แสดงให้เห็นถึงภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน อีกทั้งต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลอดจนผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

“สิ่งที่ ครม.ชุดใหม่ ต้องเร่งดำเนินการ คือการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ดูแลกลุ่มครัวเรือนที่เปราะบาง จากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าอาหาร สาธารณูปโภค ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ฯลฯ ทำให้ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของจีดีพี หรือ 15 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมหนี้นอกระบบอีก 19.6% ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่กดดันเศรษฐกิจในเวลานี้”

โดยการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนจะต้องมีการบูรณาการทำงานในทุกมิติ ตั้งแต่การออกมาตรการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียน เป็นต้น การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ การดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและรักษาระดับราคาสินค้า ที่สำคัญ คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปหมุนระบบเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และทำให้เกิดการจ้างงานในระบบ

“ทุกภาคส่วนต่างคาดหวังกับการทำงานของ ครม.ชุดใหม่นี้ รัฐบาลใหม่จะต้องทำงานหนักมีประสิทธิภาพสูงและโปร่งใส ปราศจากคอร์รัปชัน เพื่อเปลี่ยนความคาดหวังและแรงกดดันนี้ ไปเป็นพลังในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าความท้าทายต่างๆ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ”

นาวา จันทนสุรคน
นาวา จันทนสุรคน

นาวา จันทนสุรคน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเมืองไทยเป็นรัฐบาลผสม (Coalition Government) มาตลอด รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 62 ก็เป็นรัฐบาลผสม 19 พรรคการเมือง แต่สามารถบริหารราชการได้มีเอกภาพ มีผลงานในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และแม้ใน 2 ปีหลัง เศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ไทยยังคุมเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดี

“มาถึงรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรค ขณะที่มีนายกรัฐมนตรีซึ่งมีประสบการณ์โชกโชน ประสบความสำเร็จสูงในภาคธุรกิจ มีความเป็นผู้นำสูง และข้อที่ดีคือ พรรคร่วมรัฐบาลยึดหลักสลายขั้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติจริง ก็ย่อมบริหารราชการได้มีประสิทธิผล แก้ไขปัญหาที่เผชิญ และพัฒนาประเทศไทยต่อไปได้แน่นอน”

แต่ต้องยอมรับว่า โจทย์สำหรับรัฐบาลใหม่ไม่ง่าย เพราะทิศทางเศรษฐกิจของโลก คาดว่า ปีนี้จะเติบโตได้ราว 3.0% ส่วนเศรษฐกิจไทย แม้เป็นทิศทางบวก แต่ในครึ่งแรกของปี 66 เติบโตเพียง 2.2% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก และต่ำกว่าเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ ขณะที่การส่งออกและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทย ติดลบต่อเนื่องกันมา 3 ไตรมาสแล้ว ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 65

ที่สำคัญภาคการผลิตของทุกอุตสาหกรรมยังใช้กำลังการผลิตต่ำ ล่าสุด ไตรมาส 2 ปี 66 ใช้กำลังการผลิตเพียง 57.6% และหากเจาะลึกบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็กยังใช้กำลังการผลิตในปี 66 ต่ำมากเพียง 28.5% เนื่องจากความต้องการใช้สินค้าในประเทศลดลง และสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในไทย และแย่งส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา โดยเฉพาะการทุ่มตลาดจากสินค้าจีน

ดังนั้น รัฐบาลควรดูแลอุตสาหกรรมในประเทศเช่นเดียวกับที่หลายประเทศดำเนินการ เช่น สหรัฐฯ ที่เน้นการค้าเสรี แต่ก็ปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเต็มที่ โดยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และตอบโต้การอุดหนุน (CVD) สินค้าจากประเทศต่างๆ รวมกันแล้วถึง 670 มาตรการ และที่ยังอยู่ระหว่างเร่งไต่สวนอีก 59 มาตรการ ขณะที่ไทยก็กำลังประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าว แต่เราใช้มาตรการดังกล่าวค่อนข้างน้อยและช้า และยังไม่เคยมีการใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti Circumvention) แต่อย่างใด

“ในฐานะภาคอุตสาหกรรมและประชาชนไทย ขอสนับสนุนรัฐบาลใหม่ และคาดหวัง
ให้เร่งมือทำเพื่อให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายดีกว่าที่สภาพัฒน์คาดการณ์จะเติบโต 2.5-3.0% และคาดหวังให้รัฐบาลบูรณาการภารกิจระหว่างกระทรวงต่างๆ ที่ รมว.มาจากต่างพรรคให้ได้โดยลึกซึ้ง เก่งทั้งเชิงรุก และเชิงรับ รู้ทันสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง ส่งเสริมการค้าการลงทุนที่มีมูลค่าสูง ปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้พึ่งพาตนเองในระยะยาว”

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

“การที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจหลักๆที่สำคัญ คือ กระทรวงคมนาคม พาณิชย์ คลัง และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจให้สอดรับและประสานกันได้ดีขึ้น เพราะถือเป็นกระทรวงหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นกระทรวงสำคัญจะไม่ได้อยู่ภายใต้พรรคแกนนำ แต่หวังว่าจะทำงานร่วมกันได้ด้วยดี”

ภาคเอกชนในตลาดทุนขอเป็นกำลังใจ และอยากให้ ครม.ใหม่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย หรือ 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้อยู่รอด เพื่อให้เกิดโมเมนตัมที่ดีไปสู่เศรษฐกิจปีหน้า ภายใต้ความเสี่ยงและความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายังวางใจไม่ได้ในเรื่องเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังมีปัญหาออกมาเรื่อยๆ “ปีนี้เป้าหมายสำคัญคือประคองให้ประเทศผ่านพ้นไปได้ ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนรับมือกับวิกฤติความผันผวน และความท้าทายของเศรษฐกิจโลก เพื่อให้ปีนี้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้”

ขณะที่ในระยะสั้น รัฐบาลต้องเร่งดึงเรื่องการท่องเที่ยวและเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งนโยบายฟรีวีซ่า ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ดีมาก ที่จะทำให้การท่องเที่ยวเดินหน้าเต็มที่ในช่วงท้ายปี เพื่อเร่งดึงเงินเข้าประเทศ เพราะจะหวังพึ่งพาการส่งออกทำได้ยากขึ้น เพราะผู้ประกอบการมากกว่า 20 อุตสาหกรรมในไทยเริ่มบ่นว่า ขณะนี้สินค้าจีนราคาถูกออกมาตัดราคาสินค้าไทยเยอะมาก ขณะที่สินค้าที่ส่งออกไปจีนก็โตไม่ได้มาก เพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่ดี ดังนั้นจึงต้องเร่งออกนโยบายมากระตุ้นการท่องเที่ยว

ส่วนการเงินดึงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยนั้น ขณะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะกลุ่มทุนต่างๆต้องการเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด หลังจีนมีปัญหาการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามยังมีปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น รัฐบาลควรตั้งทีมงานเฉพาะกิจ มาดูแลกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมต่างชาติขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนระยะยาวในไทย เพื่ออำนวยความสะดวกและให้เกิดความเชื่อมั่นเหมือนกับที่รัฐบาลอังกฤษทำสำเร็จในเรื่องนี้

“ขณะเดียวกัน ภาคตลาดทุนกำลังจับตานโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่าจะมีนโยบายหลักที่สำคัญอย่างไร อย่างไรก็ตาม ภาคีมีนัยต่อตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุน”.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ