ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในรายการ Money Issue ว่า ตอนนี้สถานะการทางการคลังของเรามีข้อจำกัดพอสมควร ซึ่งข้อจำกัดทั้งหมดใส่ไว้ในกฎหมายเพื่อที่จะให้เรามีวินัยทางการคลังไม่ให้กู้ยืมเงินเกินตัว โดยจะมี 3 ข้อใหญ่ด้วยกัน
ข้อจำกัดเรื่องแรก เพดานหนี้สาธารณะ ณ วันนี้อยู่ประมาณ 61% ของ GDP จากกรอบที่วางไว้ต้องไม่เกิน 70% ซึ่งก็ยังพอมีช่องให้ทำอะไรได้ แต่ก็ต้องมองว่าในอนาคต ภาระทางการคลังก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามภาระโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจที่โตช้า และดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อจำกัดที่สอง ในพ.ร.บ.หนี้สาธารณะมีการระบุว่า ไม่ให้รัฐบาลกู้เพื่อขาดดุลงบประมานเกิน 20% ของบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอยู่ที่ 17% ของ GDP บวกด้วย 80% ของงบประมาณ จ่ายคืนเงินต้นเงินกู้ สองอันนี้บวกกัน เท่ากับว่าขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 3.5% ของ GDP ประเด็นปัญหาคือ งบประมาณปีหน้าที่รัฐบาลที่แล้วได้มีการอนุมัติมีการขาดดุลได้ไม่เกิน 3% ของ GDP
แปลว่ามีช่องว่างให้ขาดดุลได้ไม่มากก็เพิ่มได้อีกแค่ 0.5% เท่านั้น จึงไม่สามารถที่จะขาดดุลเพื่อที่จะไปรับเอาโทเคนดิจิทัลเข้ามาใส่ได้ในทันที ดังนั้นกรอบที่รัฐบาลต้องทำงานด้วย คือกรอบที่จะขาดดุลได้ไม่เกิน 3.5%
ข้อจำกัดที่สาม มีคนมีไอเดียว่า ไปให้ธนาคารรัฐออกให้ก่อนเหมือนกับโครงการจำนำข้าว แต่กรอบวินัยทางการเงินการคลังก็มีกำหนดไว้เหมือนกันว่า ตัวเลขที่เป็นภาระของรัฐที่ให้หน่วยงานรัฐออกไปก่อน เช่น ธนาคารรัฐออกไปก่อน แล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชย ตรงนี้จะได้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ยอดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ถ้าไปดูรายงานล่าสุดยอดตอนนี้มันอยู่ที่ 1.06 ล้านบาทเข้าไปแล้ว แสดงว่ายังเหลือให้ใส่ได้อีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่เยอะมาก
ทั้ง 3 ข้อจำกัดนี้จะเห็นได้ว่า สถานะการคลังค่อนข้างตึงตัวพอสมควร ซึ่งรัฐบาลต้องหาวิธีการ แต่ยังคงต้องรักษาระเบียบวินัยทางการคลังไว้ ซึ่งอาจจะไม่สามารถใส่ได้ในปีงบประมาณเดียว อาจจะต้องพิจารณาแยกเป็นสองปีงบประมาณหรือไม่
นอกจากนี้ดร.พิพัฒน์ยังมองว่า ยังมีสิ่งที่รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของ Fiscal Multipliers (สัดส่วนที่บอกถึงการเพิ่มข้ึนของ GDP เมื่อภาครัฐเพิ่มการใช้จ่ายหรือลดภาษี) ด้วยว่า เงินหนึ่งบาทที่ใส่เข้าไป มันจะโตได้กี่เท่า จะมีการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นมาเพียงพอขนาดที่จะชดเชยตัวมันเองได้หรือไม่ เมื่อใส่เงินเข้าไป 100 บาท แล้ว GDP มันจะขึ้น 100 บาทเลยจริงหรือไม่ และที่สำคัญต้องเป็นการขาดดุลด้วย
ดร.พิพัฒน์อธิบายเพิ่มเติมว่า มีการศึกษาค้นพบว่า ในการใช้จ่ายของรัฐบาลการให้เงินในแบบเงินโอน มีตัวคูณทางการคลังต่ำที่สุด เพราะเมื่อให้เงินไปแล้ว GDP ไม่ได้เกิดโดยทันที ต้องตั้งคำถามว่าคนที่ได้รับไป จะเอาไปสร้าง GDP ใหม่หรือไม่
ยกตัวอย่าง ประเด็นที่ 1 ปกตินาย A ใช้เงินอยู่แล้วเดือนละ 10,000 บาท อยู่ๆ มีคนเอามาให้อีก 10,000 บาท เดือนนั้นอาจจะใช้ 15,000 บาท รับจากรัฐบาลมาแล้ว 10,000 บาท แต่ GDP ไม่ได้ขึ้น 10,000 บาท ขึ้นได้แค่ 5,000 บาท เพราะปกติใช้ 10,000 บาทอยู่แล้ว แต่พอรับมานาย A ใช้เพิ่มอีก 5,000 บาท แสดงว่า GDP เพิ่มขึ้นแค่ 5,000 บาท อีก 5,000 บาท กลายเป็นเงินออมของ นาย A ที่มันหายไปจากระบบ
ประเด็นที่ 2 เมื่อนาย A ได้เงินมา 10,000 บาท ถ้าเกิดว่ากินก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านก็อาจจะกลายเป็น GDP โตขึ้นมา แต่ถ้านาย A ใช้ซื้อสมาร์ทโฟนซึ่งไม่ได้ผลิตในประเทศ เงิน 10,000 บาทถูกใช้จริง แต่ GDP ไม่ได้ขึ้น 10,000 บาท มันอาจจะขึ้นแค่ 1,000 บาท ที่เหลือไหลหลุดไปกับการนำเข้า และมูลค่าเพิ่มมันเกิดขึ้นในจีนไม่ใช่ไทย ดังนั้นถ้าซื้อของนำเข้าก็จะไปลดตัวคูณทางเศรษฐกิจลงไปอีก
ประเด็นที่ 3 อาจจะเป็นการขอยืมเงินในอนาคตมาใช้ นาย A ได้มา 10,000 บาท และใกล้จะหมดระยะเวลาเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด จึงนำเงินไปเหมาแชมพูสบู่ยาสีฟันมาไว้ที่บ้าน แน่นอนว่า GDP ขึ้นเพราะมีการซื้อขาย มียอดขายขึ้นทันที แต่หลังจากนั้น อีก 6 เดือนไม่ต้องซื้อแชมพูสบู่ยาสีฟันเลย เพราะนาย A ได้ยืมดีมานด์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน และจะจ่ายคืนไปในอนาคตในวันที่นาย A จะจ่ายเพื่อซื้อของเหล่านั้นอีกครั้ง
ดังนั้นจากตัวอย่างที่ยกมาเรื่องตัวคูณการคลังมีหลายคนตั้งคำถามเหมือนกันว่า จะเติบโตได้ตามที่คาดหวังหรือไม่