ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 ซึ่งมีมติ “ไม่เห็นชอบ” ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น...นอกจากจะสร้างความผิดหวังแก่บรรดาผู้สนับสนุนนายพิธาจำนวน 14 ล้านเสียงทั่วประเทศแล้ว
ยังสร้างความกังวลใจให้กับภาคธุรกิจ ที่กำลังรอคอยรัฐบาลใหม่เข้ามาขับเคลื่อนนโยบาย หลังจากที่ประเทศไทยต้องตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ ภายใต้รัฐบาลรักษาการมาตั้งแต่ 20 มี.ค.2566
โดยเฉพาะเมื่อความล้มเหลวในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธาอาจนำไปสู่ประเด็นความขัดแย้ง บานปลาย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ภาคธุรกิจยิ่งทวีความอึดอัดใจขึ้นเป็นทวีคูณ!!!
ในภาวะเข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้ขอความเห็นจากนักธุรกิจและนักวิชาการ ร่วมกันเสนอ “ทางออกประเทศ เพื่อที่เศรษฐกิจจะเดินหน้าได้ต่อไป” ดังนี้....
ดร.อมรเทพ จาวะลา
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
ทางออกประเทศไทยคือผมต้องการเห็นเศรษฐกิจกลับมามีความเชื่อมั่นอีกครั้ง ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มจะมีอำนาจในการบริหารประเทศ ใช้งบประมาณ เร่งการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งกำลังซื้อระดับฐานราก
“ปีนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาภัยแล้งรุนแรง ซึ่งต้องการมาตรการเร่งด่วนจากภาครัฐ อีกทั้งสถานการณ์ทั่วโลกยังมีปัญหาจากการย้ายฐานการผลิตจากจีน ปัญหาสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ขณะที่ไทยกำลังเสียโอกาส เพราะว่าจีนอาจจะย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามหรืออินโดนีเซียแทน เพราะฉะนั้น รัฐบาลชุดใหม่ต้องเดินหน้าทำงานอย่างเร่งด่วน”
สำหรับในช่วงที่ไม่มีรัฐบาลอยากแนะนำผู้ประกอบการที่ยังขาดความเชื่อมั่น และยังลังเลที่จะลงทุนหรือขยายกิจการ ให้เตรียมความพร้อมอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.เสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเพื่อให้อย่างน้อยธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ มีกระแสเงินสดในการสั่งซื้อสินค้า ชำระหนี้ จ่ายเงินเดือนพนักงาน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็น่าจะเกิดขึ้นผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสั่งซื้อเครื่องจักร และเพิ่มมูลค่าสินค้า ตลอดจนทำการตลาดที่ดี ในการรับมือกับต้นทุนที่จะสูงขึ้นในอนาคต “อย่ารอให้เกิดปัญหากับธุรกิจ ต้องเตรียมพร้อม รับมือและทำให้เร็วกว่าคู่แข่ง เพื่อหาโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังสามารถเติบโตได้”
ชาญณรงค์ บุริสตระกูล
กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพิมานกรุ๊ป จำกัด ในฐานะประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
ภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน มีความไม่แน่นอนสูง ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด ถึงแม้จะผ่านการเลือกตั้งมา 2 เดือนแล้ว แต่ไม่สามารถสรุปและจัดตั้งรัฐบาลได้ นับเป็นกับดักทางเศรษฐกิจ ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพรวมของประเทศ ทั้งการบริหารงานราชการแผ่นดิน นโยบายเศรษฐกิจและวางแผนการลงทุนของภาคเอกชน ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ
ในฐานะภาคเอกชน จึงขอเสนอแนะให้ฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไปเจรจาตกลงหาทางออกการทำงานร่วมกันโดยเร็วที่สุด หากปล่อยให้เวลาล่าช้าออกไป ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย บั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประชาชน
“อยากวิงวอนให้ฝ่ายการเมือง มองภาพรวมประเทศ อย่ามองแค่เกมการเมืองที่ต่อรองแย่งชิงอำนาจ ทุกวันนี้ประเทศไทยมีปัญหารอการแก้ไขจำนวนมาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาภัยแล้ง หากเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับ คนไทยมีงานทำ มีรายได้ เชื่อว่าปัญหาสังคมจะลดลงได้”
เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ภาคเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไป ค่อนข้างคาดหวังกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2566 เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนที่สะสมมานาน ตั้งแต่ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้หนี้สาธารณะของไทย ปรับเพิ่มขึ้นจากเมื่อปลายปี 2562 ที่ 41.18% ต่ออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เป็น 61.63% ต่อจีดีพีในปัจจุบันทำให้ส่งผลต่อภาระการคลังของไทย
ภาคเอกชนจึงเรียกร้องมาโดยตลอดว่า ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันรักษาบรรยากาศที่ดีในทุกมิติ ที่จะช่วยหนุนการท่องเที่ยวในปีนี้ไว้ให้ได้ ระมัดระวังไม่ให้การเมืองนำไปสู่ความขัดแย้งนอกสภา หรือทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรง จนกระทบต่อการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ไฮซีซัน ทำให้ประเทศไทยถูกมองว่าไม่ปลอดภัยและหนีไปเที่ยวที่อื่นแทนกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน “ผมขอย้ำตรงนี้ว่าการเร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นโจทย์สำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางของประเทศ รวมทั้งเป็นความหวังของประชาชน ที่ต้องการเห็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและปากท้อง”
“ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ และมีต้นทุนของมัน ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยาวนานก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย จึงอยากให้ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันให้มากและเร่งหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน เพื่อสร้าง OneThailand ที่จะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนภายใต้ความท้าทายของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
ไพศาล ธรสารสมบัติ
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน)
ผมคิดว่าเราต้องการรัฐบาล “เดี๋ยวนี้” นี่คือทางออกของประเทศไทย โดยรัฐบาลใหม่ต้องไม่ขัดแย้งต่อความรู้สึกของประชาชน เป็นรัฐบาลที่มาจากกติกาที่ยอมรับได้ไม่นำไปสู่ความแตกแยกและความวุ่นวาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด เราผ่านการเลือกตั้งมาแล้วและคิดว่าจะเป็นทางออกในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนที่เลือกเข้ามาตามระบบ
“แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือความไม่แน่นอน ความอึมครึมทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศเลย เราผ่านวิกฤติไวรัสโควิดมากว่า 3 ปี กำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง กระทบการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ เราจึงคาดหวังมากว่าการเลือกตั้งจะทำให้การเมืองมีความชัดเจน การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจะช่วยให้ปัญหาเร่งด่วนจำนวนมากถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ปัญหาฝูงเรือประมงไทยที่จอดนิ่งมานาน การเร่งเบิกจ่ายงบของปีงบประมาณที่เหลืออยู่ ซึ่งหยุดชะงักเพราะรอรัฐบาลใหม่ ตลอดจนการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ”
ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและยาว ซึ่งต้องรีบเดินหน้าเช่นกัน ได้แก่ การทะลวงท่อโครงการลงทุนภาครัฐที่ชะงักอยู่จากปัญหาบริหารจัดการ ตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา และโครงการรถไฟฟ้า ไปจนถึงการปรับโครงสร้างการทำงานภาครัฐให้บูรณาการร่วมกันให้ดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้รอไม่ได้แล้ว จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาทางออกที่จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายโดยเร็ว
ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (นิด้า)
ประเทศไทยต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด เพราะประเทศต้องมีผู้บริหารอย่างเป็นทางการ เนื่องจากรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ที่เป็นผลผูกพันได้ แม้หลายฝ่ายจะมองว่าการจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเป็นไปตามขั้นตอน แต่หากสามารถร่นเวลาให้เร็วขึ้นได้ จะเป็นประโยชน์ต่อภาพรวมเศรษฐกิจและเป็นทางออกของประเทศ ณ ขณะนี้
ขณะเดียวกันโฉมหน้า ครม.ต้องดูดี มีศักยภาพ มีประสบการณ์ พร้อมทำงานและเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกกว่า 76% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ฉะนั้น ครม.ชุดใหม่ ต้องทำงานให้รวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่น สร้างบรรยากาศการลงทุนด้วย “เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รัฐบาลต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเก่า เพื่อชดเชยมูลค่าส่งออกที่ลดลง ด้วยการใช้โอกาสจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการเปิดเจรจาการค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ใหม่ หลังจากเว้นวรรคมานานกว่า 8 ปี เนื่องจากเกิดการปฏิวัติในประเทศไทย ทำให้ความสัมพันธ์หยุดชะงัก”
“ผมมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลมีไทม์ไลน์ชัดเจน ภายในเดือน ก.ค.นี้ จะได้ชื่อนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แน่นอน แต่สิ่งที่คาดหวังคือหน้าตาทีมเศรษฐกิจ ต้องโดดเด่น มืออาชีพ เป็นที่รู้จักของทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ไม่มีเวลารอมือสมัครเล่นหรือไม่มีประสบการณ์มาทำงาน ทีมเศรษฐกิจยังต้องทำการบ้านมาก่อน เมื่อเข้ามาบริหารประเทศ จะได้พร้อมทำงานทันที”
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร
นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)
การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด คือทางออกของประเทศไทย ขอให้นักการเมืองร่วมมือกันจบปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งยืดเยื้อเท่าใดก็ยิ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศ เพราะประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งมา 2 เดือนแล้ว
สำหรับผมแล้วใครมาเป็นรัฐบาลก็ได้ ขอเพียงให้รีบเข้ามาวางนโยบายและบริหารประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ และภาคธุรกิจโดยเฉพาะท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่นักธุรกิจรอคอยคือ รัฐบาลชุดใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาจัดวางนโยบายในการบริหารประเทศ
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหลายๆเรื่อง รัฐบาลรักษาการไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือบางเรื่องแม้จะตัดสินใจได้ แต่พอเป็นช่วงปลายรัฐบาล ก็ไม่อยากจะตัดสินใจ
ตัวอย่างเช่น ปัญหาของการใช้ระบบ E-VISA ที่เป็นอุปสรรคกับกรุ๊ปทัวร์จีนที่จะเข้ามาไทย ทั้งเรื่องระยะเวลาในการอนุมัติล่าช้าและจำนวนที่อนุมัติน้อยลงกว่าการขอวีซ่าด้วยระบบเดิม
แม้อยู่ระหว่างแก้ไข แต่ไม่ทันกับการแข่งขันกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ใช้เวลาอนุมัติ 1-3 วัน ทำให้กรุ๊ปทัวร์จีนเปลี่ยนการเดินทางมาไทยไปประเทศอื่นแทน หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเชื่อว่าจะแอคทีฟในการแก้ปัญหา
“สิ่งที่สำคัญคืออยากให้รัฐบาลที่ตั้งใหม่ ไม่มีปัญหา เพราะหลังจากการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรกไม่สำเร็จ เป็นห่วงว่าจะเกิดการชุมนุม ความวุ่นวายจะกระทบต่อบรรยากาศท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว”
สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ผลการโหวตนายกรัฐมนตรีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกลยังไม่สามารถผ่านการลงคะแนนได้ในครั้งแรกนั้นหอการค้าไทยยังหวังว่า หลังจากนี้พรรคการเมืองจะมีการหารือและทำความเข้าใจ ร่วมกัน และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้
โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และทุกฝ่ายจะสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อเข้ามาบริหารจัดการปัญหาและความท้าทายของประเทศ
โดยมองว่ามี 3 ประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี 2.การรับมือปัญหาภัยแล้ง ที่ปีนี้สัญญาณจากเอลนีโญมีความชัดเจนขึ้น 3.เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ที่ยังค้างท่อรอการเบิกจ่ายให้รวดเร็วมากที่สุด
“การจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็วและทิศทางนโยบายที่ชัดเจน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศจะกลับมาลงทุนตามปกติ ขณะที่การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหากอยู่บนพื้นฐานของความสงบเรียบร้อย ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวจะโตตามเป้าที่ 3-3.5% ได้”.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่านข่าวเพิ่มเติม "สกู๊ปเศรษฐกิจ"