เจาะ อุตสาหกรรมยา แสนล้าน กับเป้าหมาย ‘ไทยแลนด์ เมดิคัลฮับ’ ความฝันที่อาจไปไม่ถึง

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

    เจาะ อุตสาหกรรมยา แสนล้าน กับเป้าหมาย ‘ไทยแลนด์ เมดิคัลฮับ’ ความฝันที่อาจไปไม่ถึง

    Date Time: 30 มิ.ย. 2566 13:35 น.

    Video

    บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

    Summary

    • ไทยกำลังผันตัวเป็น “เมดิคัลฮับ” ระดับนานาชาติ ก่อเกิดการรักษาชั้นสูงที่มีคุณภาพมากขึ้น, มีแพทย์เฉพาะทาง และโรงพยาบาลคุณภาพสูง พร้อมๆ จำนวนคนที่ต้องการขอรับบริการทั้งไทยและเทศเป็นจำนวนมากนั้น ก็จะทำให้ความจำเป็นในการใช้ “ยา” ประเภทต่างๆ ก็จะทวีคูณมากขึ้นไปด้วย

    Latest


    เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา อาจพอได้เห็นข่าวกันแล้วบ้าง ว่าแม้แต่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย อย่าง ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็พาตัวเองขยับเข้าไปในกลุ่มธุรกิจยา และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผ่านการเปิดตัว “อินโนบิก นูทริชั่น” บริษัทในกลุ่มอินโนบิก (เอเซีย) ที่ประกาศว่าจะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด ธุรกิจยา ธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ พร้อมกับเป้าหมายใหญ่  ที่จะเป็นบริษัท Life Science ชั้นนำในภูมิภาค

    ความเคลื่อนไหวดังกล่าว สะท้อนได้ว่า แม้กระทั่งรายใหญ่ที่ไลน์ธุรกิจไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย อาจมองเห็นอะไร? บางอย่างในธุรกิจยา และธุรกิจเชิงการแพทย์ในประเทศไทย เป็นแน่แท้ …

    สำหรับเหตุผลที่สำคัญ อาจไม่ใช่เพียง ที่ประเทศไทย กำลังก้าวขาเข้าสู่ "สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Completely Aged Society)" ในอีก 7-8 ปีข้างหน้า (ปี 2573) แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19 ก็จะเห็นว่า ผู้คนเริ่มตระหนักถึงการดูแล ป้องกัน และใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น พร้อมจ่ายเงินกับส่วนนี้มากขึ้น

    ไม่นับรวม ปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่น PM2.5 ควันบุหรี่  ควันจากท่อไอเสีย ส่งผลต่อสุขภาพของคนเรา อีกทั้งแนวโน้ม การเจ็บป่วยด้วยโรค ทั้งเรื้อรัง และไม่เรื้อรัง ของคนไทย นับวันก็ยิ่งอยู่ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

    ปีที่แล้ว จำหน่ายยา ในไทยโต 5%

    วิจัยกรุงศรี เผยว่า เมื่อปี 2565 มูลค่าจำหน่ายยาในประเทศมีแนวโน้มเติบโต 4.5-5.0% จากปี 2564 ผลจากความต้องการบริโภคยาและเวชภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเมื่อปี 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจหมวดยา เวชภัณฑ์และขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ เพิ่มขึ้นจาก 994 รายในปี 2562 เป็น 1,792 สะท้อนความน่าสนใจของอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก

    ขณะการแพร่ระบาดของโควิด กลายเป็น “ตัวเร่ง” ในแง่ซัพพลาย ทำให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยาคึกคัก พบมีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน BOI ในปีเดียวกัน นับ 10 โครงการ มูลค่ารวม 1.87 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นนับ 238.3% จากปี 2563 ซึ่งเกือบ 90% เป็นโครงการลงทุนผลิตยา 


    ภายใต้ ภาพวาดฝันของประเทศไทย ที่กำลังวางบทบาทของตัวเอง เป็น “เมดิคัลฮับ (Medical Hub)” หรือ “ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ”

    ภก.สุรชัย เรืองสุขศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยข้อมูลน่าสนใจ สนับสนุนแนวโน้มข้างต้นว่า แท้จริงอุตสาหกรรมยาทั้งระบบของประเทศไทย มีการขยายตัวที่น่าสนใจมากกว่านั้น ในระยะที่ผ่านมา ทั้งระบบ โตปีละ 12% 


    ซึ่งการที่ไทยกำลังผันตัวเป็น “เมดิคัลฮับ” ระดับนานาชาติ ก่อเกิดการรักษาชั้นสูงที่มีคุณภาพมากขึ้น, มีแพทย์เฉพาะทาง และโรงพยาบาลคุณภาพสูง พร้อมๆ จำนวนคนที่ต้องการขอรับบริการทั้งไทยและเทศเป็นจำนวนมากนั้น ก็จะทำให้ความจำเป็นในการใช้ “ยา” ประเภทต่างๆ ก็จะทวีคูณมากขึ้นไปด้วย 


    เซียนหุ้น ชี้ ธุรกิจยาน่าลงทุน

    ขณะในมุมนักลงทุน เซียนหยง-ธํารงชัย เอกอมรวงศ์ นักลงทุน / เจ้าของเพจ Freedom Trader ชี้ว่า ธุรกิจยา สเกลใหญ่มาก มีโอกาสเติบโตสูง และมีศักยภาพสูงในการลงทุน ทั้งขนาดใหญ่ และ การลงทุนรายย่อย พบผลประกอบการบริษัทยา อยู่ในเทรนด์ขาขึ้นแทบทุกบริษัท 

    เนื่องจาก คนมีเงินมากขึ้น อายุยืนมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องดูแลรักษา ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ร่างกายของตนเองมากขึ้น ก่อเกิดความต้องการยาทั้งในเชิงรักษาโรค และยาที่เป็นวิตามินเสริม รวมไปถึง พวกกลุ่มเวชภัณฑ์ เวชสำอาง


    แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือ การที่ภาคการท่องเที่ยวของไทย กำลังกลับมา “ผงาด” หลังโควิด ย้อนสถิติ ช่วงปี 2562 ประเทศไทยติด TOP เมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก เป็นรองแค่เมืองใหญ่ ลอนดอน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 40 ล้านคน 


    เซียนหยง มองว่า เทรนด์การท่องเที่ยวที่จะกลับมาพุ่งแรงนับหลังจากนี้ของไทย จะมาพร้อมๆ กับโอกาส ปูทางในแง่การแพทย์ การสาธารณสุขของประเทศไทย ที่สร้างชื่อไว้กระฉ่อน เมื่อครั้งเรารับมือกับสถานการณ์โควิดได้ดีเยี่ยม จนกลายเป็นที่ยอมรับระดับสากล 


    ปัจจุบัน นอกจากมีแนวโน้มชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับ มุ่งเป้าเข้ามาเพื่อรักษาตัว ด้วยโรคภัยต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว พบการแพทย์ในแง่ศัลยกรรมตกแต่ง ใบหน้า ร่างกาย และ แปลงเพศ ประเทศไทยก็ได้รับความสนใจ เป็นเบอร์ต้นๆ ของระดับโลก ในแง่การใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเช่นกัน ฉะนั้น “ยา” จะเป็นส่วนประกอบ ของกลไก ‘เมดิคัลฮับ’ ที่มีความหลากหลายอย่างน่าจับตามอง


    ความน่าสนใจของอุตสาหกรรมยา เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนที่ไทยจะเจอกับวิกฤติโควิด ปี 2561-2562 เฉพาะแค่กลุ่มวิตามินบำรุง-เวชสำอาง (ผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาคุณสมบัติของเครื่องสำอางและ/หรือยาไว้ด้วยกัน) มีการเติบโต 7-8% โตมากกว่าค่าเฉลี่ยของจีดีพีโลก นั่นคือ จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจในการลงทุน


    ประการที่สอง แม้การเติบโตของกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ รพ. เครื่องมือแพทย์ จะขยายตัวอย่างมาก แต่ยาที่ผลิตโดยบริษัทไทย ยังมีอยู่น้อย ฉะนั้นช่องว่างการเติบโตในแง่การลงทุนมีอยู่มาก หากมองในมุมนักลงทุน ที่ยึดผลตอบแทนการลงทุนเป็นหลัก 

    "จริงอยู่ ยา ไม่ใช่ธุรกิจที่กำไรสูง เพราะมีต้นทุนที่แพง แต่เป็นธุรกิจที่ไม่มีวันล้ม ผู้เล่นน้อยราย แต่การเติบโตมีแต่จะพุ่งต่อ มูลค่ารวมมหาศาล อีกทั้งเป็นหมวดธุรกิจ ที่แม้แต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ไม่มีหลักเกณฑ์กีดกัน และพร้อมจะสนับสนุน"

    ผ่าอาณาจักรยา 

    เมื่อปี 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่าไทยมีโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบันที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต (GMP) จำนวน 151 แห่ง


    ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม 


    กลุ่มที่ 1 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม โรงงานเภสัชกรรมทหาร


    กลุ่มที่ 2 บริษัทยาภาคเอกชน  ได้แก่ บริษัทยาของผู้ประกอบการไทย  คนไทยถือหุ้นใหญ่ ส่วนใหญ่ผลิตยาชื่อสามัญทั่วไปและมีราคาไม่สูง เช่น บริษัทเบอร์ลินฟาร์มาซูติคอลอินดัสตรี, บริษัทไทยนครพัฒนา, บริษัทสยามฟาร์มาซูติคอล บริษัทไบโอฟาร์มเคมิคอล และบริษัทสยามเภสัช ฯลฯ ขณะบางรายอาจรับจ้างผลิตร่วมด้วย เช่น บริษัทไบโอแลป บริษัทเมก้าไลฟ์ไซแอ็นซ์ และบริษัทโอลิค 


    อีกส่วนของกลุ่ม 2 คือ บริษัทยาข้ามชาติ ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยชาวต่างชาติ บางรายเป็นตัวแทนนำเข้ายาต้นตำรับหรือยาจดสิทธิบัตร มีการจำหน่ายในราคาค่อนข้างสูง และบางรายเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยาสำเร็จรูปในไทย เช่น บริษัท Pfizer บริษัท Novartis บริษัท GlaxoSmithKline บริษัท Sanofi-Aventis และบริษัท Roche รายได้ที่เฟื่องฟู สำหรับ บริษัท AstraZeneca เมื่อปี 2564 คือ การผลิตและนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 

    อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ฉบับใหม่ องค์การเภสัชกรรม ถูกจัดให้อยู่ใน ฐานะผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับ ภาคเอกชน ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น ซึ่งรวมถึงต่างชาติที่ผลิตยาราคาถูกออกมาจำหน่าย เช่น อินเดียและจีนด้วย 


    ยาที่ผลิตได้ประมาณ 90% ถูกใช้บริโภคในประเทศ และอีก 10% เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศคิดเป็นสัดส่วน 29.0% ของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมด


    ยานอก กินส่วนแบ่งตลาดไทยเรียบ 

    แต่ที่น่าเสียดาย คือ ไม่มีใครรับรู้ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตยาภาคเอกชนในประเทศเผชิญแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน ตั้งแต่ 

    1. การเข้ามาแข่งขันของยาราคาถูกจากอินเดียและจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย
    2. ผู้ผลิตเสียเปรียบทั้งการเข้าถึงต้นทุนการผลิตที่ถูกและโอกาสเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายให้รัฐ 
    3. มาตรฐาน GMP-PIC/S ที่คุมเข้มตามการประเมินยาแห่งสหภาพยุโรป เช่น การลงทุนในโรงงาน เครื่องจักร ที่ต้องใช้เงินลงทุน บางแห่งสูงถึง 500 ล้านบาท ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับคุณภาพเทียบสากล
    4. การต้องจัดหาสถานที่เก็บยาและการกระจายยาที่เหมาะสมและเพียงพอ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข


    นี่เป็นเพียงอุปสรรคข้างต้นที่ถูกสะท้อนออกมาจาก ภญ.ลลนา เสตสุบรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน ถึงจุดบอดของอุตสาหกรรมยา พระรองตัวหลักของ ภาพฝัน “เมดิคัลฮับ” ของไทย ที่กำลังถูกยานำเข้าเบียดบังการเติบโตของยาสัญชาติไทย 

    แม้จะมีการผลิตที่เทียบสากลได้คุณภาพ แต่ในแต่ละปี ไทยจะสามารถส่งออกไปขาย ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมา ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯล เพราะได้ยอมรับในแง่มาตรฐานยาที่ดี แต่ในประเทศเอง กลับเป็นรองยานอก


    แต่หากเจาะข้อมูลลึกลงไป ก็อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายมากนัก หากมูลค่าของตลาดยา ปีหนึ่งมีเม็ดเงินราว 1 แสนล้านบาท รู้หรือไม่? ยาที่เราต่างบริโภคกันอยู่ มาจากการผลิตของบริษัทสัญชาติไทยเท่านั้น เพราะอีก 65% เป็นยาที่ “นำเข้า” เข้ามา นั่นคือรายได้ที่หลุดหายไประหว่างทางไปนอกประเทศ ทั้งๆ ที่ ภก.สุรชัย ประเมินความพร้อม ของผู้ผลิตยา สัญชาติไทย ว่ามีอยู่สูง และยาไทย ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค ด้วยความสามารถในการผลิตเทียบต่างชาติ ไทยสู้ได้ ทั้งเรื่องคุณภาพของยา และมาตรฐานโรงงานผลิต 

    การนำเข้ายาส่วนใหญ่ของไทย เป็นตัวยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศและมีราคาแพง เช่น ยาสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะ และยาลดไขมันในเลือด โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากเยอรมนี สหรัฐฯ และอินเดีย แต่เพราะส่วนหนึ่งผู้ผลิตยาไทย เจอกับอุปสรรค ไม่สามารถขึ้นทะเบียนยาใหม่ได้ เนื่องจากติดข้อจำกัด ยาที่มีสิทธิบัตร เช่น ยาลดความดันโลหิตสูง ยาโรคเบาหวาน และยาปฏิชีวนะ ฯลฯ


    ตัวอย่าง ยารักษามะเร็ง ซึ่งแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพราะยาเม็ด มีราคาขายต่อเม็ดหลักพันบาท ขณะกลุ่มยาฉีด ราคาหลักหมื่น แต่ ยาไทย มีส่วนแบ่งในตลาดนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยมีเจ้าใหญ่ คือ สหรัฐฯ

    โจทย์ใหญ่ ต้นทุนผลิตสูง-ไทยไร้ความมั่นคงทางยา

    วิจัยกรุงศรี สรุปประเด็นท้าทายของธุรกิจยาที่ต้องเผชิญ คือ ต่อให้เห็นโอกาสอยู่ตรงหน้า แต่ไทยยังขาดศักยภาพในการผลิตยาที่จำเป็นเพื่อความมั่นคงทางยา หากวัตถุดิบ และเทคโนโลยี ยังต้องนำเข้ามาเกือบทั้งหมด 


    การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากนักลงทุนรายใหม่จากต่างชาติ ซึ่งใช้ไทยเป็นฐานการผลิต อย่างในโซน EEC ขณะภาระต้นทุนของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะเงื่อนไข ต้องปรับปรุงโรงงานผลิตยาให้ได้ตามมาตรฐาน GMP-PIC/S รวมถึง แนวโน้มกฎหมาย ที่อาจกำหนดให้ยาจดสิทธิบัตร มีระยะเวลาผูกขาดนานเกิน 20 ปี ยิ่ง เพิ่มความไม่แน่นอนต่อราคายา

    การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ที่ทำให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2566-2568 จนอาจดันให้มูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตต่อเนื่อง พร้อมๆ กับ นโยบาย Medical Hub ชูไทยมีความมั่นคงด้านสาธาณสุขทั้งระบบ จึงมีโจทย์สำคัญ ที่ต้องเร่งผลักดันความมั่นคงทางการยา พึ่งพายานอกเท่าที่จำเป็น และเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตยาไทย ให้สามารถป้อนเข้ามาในระบบ และส่งออกได้มากขึ้น สร้างเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทยอีกทาง 


    ไทม์ไลน์สำคัญ อาจเป็นการรวมตัวของ เหล่าธุรกิจยาจากทั่วโลก 390 บริษัท ที่จะเข้ามาร่วมโชว์นวัตกรรม แลกเปลี่ยน และเจรจาทางธุรกิจยาในประเทศไทย ในงาน “ซีพีเอชโอ เซาท์อีส เอเชีย 2023” ที่ไทยกลับมาเป็นเจ้าภาพการจัดงานอีกครั้ง โดยถือเป็นงานที่ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเดือน ก.ค. เพื่อใช้เป็นการวางรากฐานสำคัญ ในการเป็นเมดิคัลฮับ  


    แต่น่าจับตามากสุด คือ การขยายขอบข่ายลงทุนของกลุ่มทุนจากธุรกิจอื่น เช่น กลุ่มปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ และกลุ่มพลังงาน ที่ตบเท้าเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง 


    Author

    กองบรรณาธิการ

    กองบรรณาธิการ
    กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์