“ธนาคารโลก” ปรับขึ้นประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 3.9% แต่มองระยะยาวศักยภาพการเติบโตประเทศไทยลดลง ชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอ ทำท่องเที่ยวส่งออกสะดุด ลงทุนหยุดชะงักจากการตั้งรัฐบาลช้า ด้าน สศค.เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน วอน แบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ ปรับโครงสร้างหนี้จริงจังไม่ทำแค่ยืดหนี้ จับมือ ธปท.กำหนดเพดานดอกเบี้ย สร้างสัญญาเช่าซื้อเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารโลก (World Bank) เปิดรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยประจำเดือน มิ.ย.66 ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 66 เพิ่มเป็น 3.9% จากเดิม 3.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือน เม.ย.66 ถือเป็นการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นจากที่ขยายตัว 2.6% ในปี 65 โดยได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ในระยะข้างหน้าการท่องเที่ยวอาจจะชะลอลงบ้างจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัวเนื่องจากความต้องการซื้อที่ลดลงในประเทศเศรษฐกิจหลักการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวในปี 65 จากการเปิดประเทศ ในปีนี้จะชะลอตัวลงบ้าง แต่ก็ถือว่ายังคงแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและดีขึ้นของตลาดแรงงานและความต้องการท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง แต่การลงทุนภาครัฐจะอ่อนแอ เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลใหม่ใช้เวลานาน
ส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 67 และ 68 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.6% และ 3.4% ตามลำดับ โดยการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ขณะที่มองว่า ความต้องการซื้อภายนอกประเทศอ่อนตัวลง สำหรับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3% ซึ่งชะลอลงจากกว่า 3.6% ในช่วงปี 53-62 ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุลในปี 66 ที่ 2.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หลังจากที่ขาดดุลตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 2% ในปี 66 ท่ามกลางราคาพลังงานโลกที่เริ่มผ่อนคลาย การตรึงราคาสินค้า และการเติบโตที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ ทั้งนี้ การตรึงราคาพลังงานในประเทศ ซึ่งรวมถึงไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี แต่ในทางตรงกันข้ามการควบคุมราคาพลังงานและการขนส่งสาธารณะอาจส่งผลให้การกระจายรายได้ถดถอยลง ลดประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร บิดเบือนกระบวนการเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว แต่ระดับผลผลิตยังไม่น่าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด และคาดว่าจะยังคงต่ำกว่าระดับศักย ภาพในปี 66 ไปจนถึงปี 68 และการกลับสู่เส้นทางดังกล่าวอาจช้าลงไปอีก จากสภาพแวดล้อมภายนอกที่ยากลำบาก ราคาพลังงานที่อาจกลับมาสูงขึ้น ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลอาจทำให้การลงทุนภาครัฐหยุดชะงัก สุดท้ายยังมีความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับการสะสมทุนที่ต่ำ ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกที่ลดลง และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
วันเดียวกัน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของประชาชนยังอยู่ในระดับสูงว่า สศค.ขอเรียกร้องให้สถาบันการเงินของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ เร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของตัวเอง เพื่อแบ่งเบาภาระผ่อนชำระหนี้แต่ละงวดและสอดคล้องกับความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ มากกว่าการยืดระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งกระทรวงการคลังได้กำหนดให้การดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญาที่เป็นธรรมของธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยาน ยนต์ ซึ่งถือเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือนประเภทหนึ่งที่มีลูกหนี้จำนวนมาก โดยสาระสำคัญของประกาศการกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ มี 3 ประเภท ได้แก่ โดยการเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตรา 10% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตรา 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกิน 23% ต่อปี เป็นต้น
ทั้งนี้ ธปท.ได้ตั้งเป้าหมายการลดหนี้ครัวเรือนของไทยจาก 86.90 ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ลงเหลือ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ด้วยการกำหนดแนวทางการลดภาระหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้รายย่อยมีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย การผลักดันกฎหมายช่วยลูกหนี้ให้สามารถฟื้นฟูหนี้ หรือเข้าสู่กระบวนการขอล้มละลายโดยสมัครใจ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ เพื่อให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ เช่นไม่โฆษณาเพื่อกระตุ้นการกู้ยืมเงินเกินตัว หรือกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม เป็นต้น.