“เปลี่ยน” เอสเอ็มอีสู่ “สตาร์ตอัพ” “ดีพร้อม” วางรากฐานส่งคนตัวเล็กเข้าตลาดหุ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เปลี่ยน” เอสเอ็มอีสู่ “สตาร์ตอัพ” “ดีพร้อม” วางรากฐานส่งคนตัวเล็กเข้าตลาดหุ้น

Date Time: 25 พ.ค. 2566 08:01 น.

Summary

  • 6 โครงการ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี โอทอป สตาร์ตอัพผ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยกลยุทธ์ “โตได้” ด้วยการอาศัยเครือข่าย มาช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการแบบครบวงจร ก่อนเปลี่ยนธุรกิจก้าวไปสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

6 โครงการ เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอี โอทอป สตาร์ตอัพผ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ด้วยกลยุทธ์ “โตได้” ด้วยการอาศัยเครือข่าย มาช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการแบบครบวงจร ก่อนเปลี่ยนธุรกิจก้าวไปสู่การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ได้กำหนดแผนส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาสมรรถนะของเอสเอ็มอี, วิสาหกิจชุมชน (โอทอป) กลุ่มสตาร์ตอัพ ภายใต้กลยุทธ์ “โตได้” โดยอาศัยการใช้เครือข่ายมาช่วยเติมเต็มในการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการสนับสนุนสตาร์ตอัพ ผ่าน 4 แนวทาง

4 กลยุทธ์ดันสตาร์ตอัพ “โตได้”

ประกอบด้วย 1. การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยการเฟ้นหาสตาร์ตอัพ ที่มีศักยภาพจากหน่วยงานเครือข่าย ทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อบ่มเพาะให้มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับ
นักลงทุน

2.การขยายเครือข่ายเงินทุน เป็นการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนให้มาร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพ ที่ได้รับการบ่มเพาะจากดีพร้อม เพื่อให้สตาร์ตอัพมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

3.การขยายเครือข่ายตลาด เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมนำกิจการของสตาร์ตอัพไปใช้งานจริง

4.การขยายเครือข่ายวิชาการนานาชาติ โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติ ในประเทศไทย เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสตาร์ตอัพและนักลงทุนไทยกับสตาร์ตอัพและนักลงทุนต่างประเทศ

“4 กลยุทธ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อเป็นการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติ ที่มีมูลค่าตลาดสูงขึ้น”

ต่อยอดงานวิจัยสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์

ขณะที่ปีนี้ได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันสตาร์ตอัพให้มีมูลค่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ได้ 420 ล้านบาท จากการดำเนินโครงการ DIPROM Angel Fund (ดีพร้อมแองเจิล ฟันด์) เพื่อช่วยให้สตาร์ตอัพไทย 71 ธุรกิจ ในหลากหลายสาขา เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 70 ล้านบาท ควบคู่ไปกับโครงการสตาร์ตอัพ คอนเน็กต์รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวม 350 ล้านบาท และจะเร่งส่งเสริมใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสร้างสรรค์ กลุ่มสังคม ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนระยะเติบโต เพื่อส่งต่อไปยังเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านโครงการต่างๆ ดังนี้

1.โครงการสร้างผู้ประกอบการ และต้นแบบผลิตภัณฑ์ฐานนวัตกรรม (DIPROM Pathfinder) ที่จะพัฒนาไอเดีย สร้างสรรค์สู่การเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการพัฒนาการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ เน้นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ หาสุดยอดผลงาน งานหัตถศิลป์แห่งอนาคตที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับบริษัท อินเด็กซ์
ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ รวมถึงมีโอกาสในการวางขายสินค้าที่ร้านอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ ทั่วประเทศ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางการตลาดในปีนี้ได้รวม 50 ล้านบาท

2.โครงการต่อยอดผลงานวิจัย และนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม เป็นการเชื่อมโยงงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เน้นให้นักวิจัยสามารถนำงานวิจัย นำเสนอสู่เชิงพาณิชย์ ปรับทิศชิ้นงานบนหิ้งสู่การขึ้นห้าง โดยคัดเลือกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย มาบ่มเพาะแนวคิดเชิงธุรกิจ พร้อมจับคู่ธุรกิจ จำนวน 15 งานวิจัย คาดว่าจะเชื่อมโยงงานวิจัยกับผู้ประกอบการได้ 10 ราย เพื่อนำงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 100 ล้านบาท

“ปตท.-ซีพีเอฟ” พี่ใหญ่ช่วยอุ้มน้อง

3.โครงการดีพร้อมแองเจิลฟันด์ (DIPROM Angel Fund) ที่ร่วมกับบริษัทเดลต้าอีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรม หรือเทคโนโลยีในระยะเวลาจำกัด การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมทั้งกลุ่มการแพทย์ครบวงจร การผลิตแห่งอนาคต ฯลฯ ล่าสุด มีสตาร์ตอัพให้ความสนใจ 100 ทีม ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การบ่มเพาะ 38 ทีม คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 113 ล้านบาท

4.โครงการดีพร้อมสตาร์ตอัพคอนเน็กต์ (DIPROM Startup Connect) เป็นการปั้นนวัตกรรมร่วม (Co-Creation) โดยเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ ในการทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชันในตลาดจริง (Proof of Concept : POC) ถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนสตาร์ตอัพที่ให้พันธมิตรเอกชน หรือลูกค้ารายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม สร้างและพัฒนาสินค้า หรือบริการของสตาร์ตอัพให้เกิดเป็นนวัตกรรม สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน และสร้างโอกาสในการขยายตลาดร่วมกันในอนาคต ปีนี้ตั้งเป้าส่งเสริมสตาร์ตอัพ 25 กิจการ โดยมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้าร่วมต่อยอดกิจกรรม 4 บริษัท อาทิ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) และ มีพันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมอีก 3 บริษัท คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้รวม 300 ล้านบาท

พลิกฟื้นเศรษฐกิจ 1,063 ล้านบาท

5.โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม ที่เน้นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือกลุ่มกิจการเพื่อสังคม 25 กิจการ ที่แตกต่างจากโครงการอื่นๆ เพราะเป็นการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการสายสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งการทำธุรกิจให้มีกำไรควบคู่ไปสู่การสร้างผลตอบแทนทางสังคม ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ 200 ล้านบาท

6.โครงการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ ในการระดมทุนสู่การเติบโตทางธุรกิจ (DIPROM Capital Market) เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัพที่อยู่ในระยะเติบโต (Growth Stage) ในการเตรียมระดมทุนสู่การเติบโตทางธุรกิจ และเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 25 กิจการ คาดว่าสามารถเติบโตร่วมทุนได้กว่า 300 ล้านบาท

“ผมจะเร่งส่งเสริม พัฒนา สนับสนุนกลุ่มสตาร์ตอัพ ทั้งการขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ เครือข่ายเงินทุน เครือข่ายตลาดให้กับกลุ่มเป้าหมาย ที่มีศักยภาพให้มีโอกาสเติบโต โดยคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยรวม
จากการดำเนินงานทั้ง 6 โครงการรวม 1,063 ล้านบาทในปีนี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ