น้ำลดตอผุด vs Bank run 4.0

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

น้ำลดตอผุด vs Bank run 4.0

Date Time: 13 พ.ค. 2566 07:27 น.

Summary

  • หลายคนมองว่าเหตุการณ์แบงก์หลายแห่งในสหรัฐฯ ล้มในช่วงปลายวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ สะท้อนว่านโยบายการเงินสหรัฐฯตึงตัวรุนแรงเริ่มมีผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพระบบการเงินของสหรัฐฯเข้าแล้ว

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

หลายคนมองว่าเหตุการณ์แบงก์หลายแห่งในสหรัฐฯ ล้มในช่วงปลายวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ สะท้อนว่านโยบายการเงินสหรัฐฯตึงตัวรุนแรงเริ่มมีผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพระบบการเงินของสหรัฐฯเข้าแล้ว ลักษณะคล้ายน้ำลด (สภาพคล่องเหือดลง ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น) เริ่มเห็นตอผุด (ปัญหาสะสมในระบบการเงินเริ่มโผล่)

อาการน้ำลดตอผุดนี้ เห็นได้จากกลยุทธ์การบริหารสินทรัพย์และหนี้สินของบางธนาคารในสหรัฐฯที่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงรอบด้าน ท่ามกลางนโยบายการเงินตึงตัวแรงและเร็วเป็นประวัติการณ์ จนเกิดผลขาดทุนจากความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและสภาพคล่อง นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญคือ “เทคโนโลยีดิจิทัล” ที่เป็นตัวการเร่งให้ตื่นตระหนกแห่ถอนเงินของผู้ฝากเงิน (bank run) เกิดขึ้นปุบปับอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด หลังได้รับรู้ผลประกอบการของธนาคารที่ออกมาดูไม่ค่อยดีนัก ทำให้ปัญหาแบงก์ล้มเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นขึ้นมากเทียบกับอดีต

ปัญหาการบริหารความเสี่ยงผิดพลาดในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นผสมโรงกับ Bank run ยุค 4.0 ทำให้ระบบธนาคารอาจเผชิญความเปราะบางได้ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ 1) ผลประกอบการแบงก์เริ่มส่อเค้าลางปัญหา เช่น บริหารความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารผิดพลาด โดยบริหารสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนคงที่ในสัดส่วนสูง ไม่สมดุลกับสัดส่วนหนี้สินที่จ่ายดอกเบี้ยลอยตัวตามอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เกิดความเสี่ยงสภาพคล่องตามมาได้ 2) การสื่อสารข่าวลบของผลประกอบการผ่านสื่อโซเชียลแพร่สะพัดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว 3) ผู้ฝากเงินในยุคดิจิทัลขาดความเชื่อมั่นโยกเงินฝากออกจากบัญชีในอัตราเร่งอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะสามารถทำได้ตลอดเวลา ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน 4) แบงก์ที่มีปัญหาและมีสัดส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการค้ำประกัน (unsecured deposit) สูง ยิ่งมีโอกาสเกิด digital bank run มาก

กลไกการรับประกันเงินฝากจึงเป็นเครื่องมือภาครัฐที่สำคัญมากในสถานการณ์เช่นนี้เพื่อป้องกัน bank run ในกรณีของสหรัฐฯ กลไกประกันเงินฝากของ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ช่วยกระแส bank run 4.0 ได้ระดับหนึ่ง หลังดำเนินการเป็นกรณีพิเศษอุ้มผู้ฝากเงินทุกรายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ที่ล้มไป ไม่ว่าจะมีเงินฝากต่ำกว่าเกณฑ์ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบัญชีหรือไม่ เพื่อไม่ให้ปัญหาขยายวงจนกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (systematic risk)

FDIC ออกรายงานทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า การแห่ถอนเงินฝากในอัตราเร่งเช่นที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าเกณฑ์การกำกับดูแล ตรวจสอบ และประเมินการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของระบบธนาคารต้องปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย นอกจากนี้ FDIC จำเป็นต้องปฏิรูปความครอบคลุมของการประกันเงินฝาก พร้อมออกนโยบายและเครื่องมือเอื้อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเสนอแนวทางปฏิรูประบบ เช่น Targeted coverage ขยายความครอบคลุมการรับประกันเงินฝากให้แตกต่างกันได้ บัญชีเงินฝากของธุรกิจเพื่อจ่ายชำระ (non-interest checking account) ควรได้รับการคุ้มครองวงเงินสูงกว่า

เหตุการณ์ตึงเครียดในระบบธนาคารของสหรัฐฯ ครั้งนี้สะท้อนว่า ไม่ว่าธนาคารจะใหญ่หรือเล็ก หากปล่อยให้ล้มโดยผู้ฝากเงินไม่ได้รับการช่วยเหลือเพียงพอทันการณ์ อาจทำให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเชิงระบบ เพราะมีความเชื่อมโยงกันในระบบการเงินซับซ้อน ภาครัฐจึงไม่อาจปล่อยแบงก์ล้มง่ายเช่นในอดีตแล้ว การอุ้มแบงก์แก้ปัญหา bank run ดูจะกำลังเปลี่ยนโฉมจาก too big to fail เป็น too much systemic risk to fail เช่นที่เกิดขึ้นค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ