SCB EIC ประเมินปีหน้าเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มี.ค. 66 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศไว้เป็นวันที่ 14 พ.ค. 66
โดย กกต. คาดการณ์ว่าจะสามารถประกาศผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการได้ภายในเวลา 23.00 น. ของวันเลือกตั้ง และจะต้องประกาศผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการภายใน 60 วันนับจากวันเลือกตั้งโดยจะต้องมีการกำหนดประชุมรัฐสภาวันแรกเพื่อเริ่มกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วันนับตั้งแต่ประกาศผลเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีบัญญัติของกฎหมายหรือข้อกำหนดของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องสำเร็จภายในระยะเวลาเท่าใด ในกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น
SCB EIC คาดว่าในกรณีฐานประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเดือนกรกฎาคม และจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในเดือนสิงหาคม แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้ากว่านี้ อาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้หลายด้าน
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2023 เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2023 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่างๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ นอกจากนี้ ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2024
โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2024 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2024 ได้อย่างเต็มที่
ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2024 ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ
SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง
(อ่านฉบับเต็มได้ ที่นี่)
บทความโดย วิชาญ กุลาตี
นักวิเคราะห์จาก SCB EIC
vishal.gulati@scb.co.th