ส่งออกติดลบ 5 เดือนติด! พาณิชย์เร่งส่งเสริมหวังดันทั้งปีบวก 1-2%

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่งออกติดลบ 5 เดือนติด! พาณิชย์เร่งส่งเสริมหวังดันทั้งปีบวก 1-2%

Date Time: 31 มี.ค. 2566 06:39 น.

Summary

  • ส่งออกติดลบ 5 เดือนติด เดือน ก.พ.66 ลดอีก 4.7% ส่งผลขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน พาณิชย์ดิ้นจัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออก หวังดันมูลค่าโตตามเป้า 1–2% ชี้ถ้าให้โตตามเป้ายอดส่งออก 10 เดือน

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ส่งออกติดลบ 5 เดือนติด เดือน ก.พ.66 ลดอีก 4.7% ส่งผลขาดดุลการค้า 2 แสนล้าน พาณิชย์ดิ้นจัดกิจกรรมส่งเสริมส่งออก หวังดันมูลค่าโตตามเป้า 1–2% ชี้ถ้าให้โตตามเป้ายอดส่งออก 10 เดือนที่เหลือต้องเฉลี่ยเดือนละ 2.47 หมื่นล้านเหรียญฯ ด้าน สศค.ยันเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ได้ปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนดีขึ้น ยอดซื้อรถยนต์– จักรยานยนต์สูงขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.พ.66 มีมูลค่า 22,376.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.7% เทียบเดือน ก.พ.65 เป็นการติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน การส่งออกคิดเป็นเงินบาท 730,123.5 ล้านบาท ลดลง 5.3% ขณะที่การนำเข้า 23,489.7 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 1.1% คิดเป็น 776,424.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% ขาดดุลการค้า 1,113 ล้านเหรียญฯ หรือ 46,301.4 ล้านบาท ส่วนช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 42,625.8 ล้านเหรียญฯ ลด 4.6% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นเงินบาท 1.43 ล้านล้านบาท ลดลง 3.2% นำเข้า 48,388 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 3.3% คิดเป็นเงินบาท 1.64 ล้านล้านบาท เพิ่ม 5.0% ขาดดุลการค้า 5,763 ล้านเหรียญฯ หรือ 217,604 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่ลดลงมาจากสินค้าอุตสาหกรรมลด 6.2% ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนติด โดยสินค้าที่หดตัว เช่น สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เหล็ก เหล็กกล้า ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มขึ้น 3.6% กลับมาบวกครั้งแรกรอบ 5 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาลทราย, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ข้าว, ผลไม้สด, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ส่วนยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ลดลงทั้งหมด ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ ภาพรวมยังคงหดตัว เช่น สหรัฐฯ ลด 9.5% จีน ลด 7.9% ญี่ปุ่น ลด 2.5% ซีแอลเอ็มวีลด 4.9% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 6.4% แต่สหภาพยุโรป เพิ่ม 0.1%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ส่งออกลดลงมาจากมูลค่าส่งออกเดือน ก.พ.65 สูง ประเทศผู้นำเข้าได้แรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อ คาดว่าไตรมาสแรก ส่งออกจะหดตัว 6-8% จากนั้นจะดีขึ้นเรื่อยๆ และกลับมาเป็นบวกช่วงกลางปีเป็นต้นไป เป้าหมายส่งออกทั้งปีที่ตั้งไว้ขยายตัว 1-2% จากปี 65

ช่วง 10 เดือนที่เหลือจากนี้ ต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 24,700 ล้านเหรียญฯ ขณะที่นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ส่งออกไตรมาส 1-2 จะยังลบ แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาเป็นบวกมากขึ้น โดยกรมจะเร่งกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 2 จะมีงานแสดงสินค้าใหญ่ๆมากขึ้น ขณะที่ทูตพาณิชย์ต่างประเทศจะเริ่มจัดกิจกรรมในไตรมาส 2-3

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ.66 ว่า ได้ปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 10.1% และจักรยานยนต์ 9.8% การท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9.1% สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.7 ในเดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน “ถือว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี สัดส่วนหนี้สาธารณะ สิ้น มี.ค.66 อยู่ที่ 61.3% ต่อจีดีพี ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง รองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่อยู่ในระดับสูง 217,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ