น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1 ที่ร่วมจัดทำกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ว่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 74 สะท้อนสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเล็กน้อย และดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนไตรมาส 2 จะอยู่ที่ระดับดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้เล็กน้อย
“ไตรมาส 1 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.15 ล้านคน มีรายได้ 316,940 ล้านบาท และทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29.20 ล้านคน คาดมีรายได้เข้าประเทศ 1,504,822 ล้าน คิดเป็น 64% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้มากที่สุด 72% รองลงมา คือ ร้านขายของฝากของที่ระลึก ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจสปา มีรายได้ 65% เท่ากัน ด้านสถานบันเทิง มีรายได้น้อยที่สุด 55%”
ทั้งนี้ การจ้างงานอยู่ที่ 86% ของช่วงที่ไม่เกิดวิกฤติโควิด-19 โดย 15% ของสถานประกอบการต้องการรับพนักงานเพิ่ม 600,000 คน ด้านธุรกิจที่พักแรมมีรายใด้ในภาพรวม 65% ของช่วงที่ไม่เกิดวิกฤติโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา มีอัตราการเข้าพักในภาพรวมทั่วประเทศ 60%
นอกจากนี้ พบว่าการที่มีชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึง 33% ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ส่งผลกระทบต่อรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 98.89 หดตัว 2.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 61.87% เนื่องจากความต้องการสินค้าจากต่างประเทศอ่อนแอลง จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางโดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้า คือสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ขณะที่หลายๆอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศ รวมถึง หลายๆอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี.