พาไปเจาะลึก ช้างบิน หรือ เฟยเซี่ยงว่ายม่าย หงอคงว่ายม่าย 2 แอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรีที่ถูกใจคนจีนในไทย
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกออนไลน์ของไทยมีการพูดถึง "แอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรี" ของจีนที่ทำขึ้นเพื่อให้บริการคนจีนที่มาอยู่ในประเทศไทย โดย ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ อ้ายจง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า จากประสบการณ์ที่มีเพื่อนเป็นคนจีน และทำงาน ทำวิจัยทางด้านการตลาดจีนในไทย เราพบว่า คนจีนที่มาเมืองไทยก็ใช้แอปพลิเคชันเดลิเวอรีแบบที่นิยมในไทย
เช่น Grab, LINEMAN, Foodpanda, Robinhood เพราะเป็นที่นิยมในวงกว้างที่ไทยและมีการรีวิวบนโลกโซเชียลจีน ไม่ว่าจะเป็นโต่วอิน หรือ TikTok จีน Xiaohongshu ซึ่งเทียบเคียงได้กับ Instagram WeChat และ Weibo โดยการสั่งเดลิเวอรี เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่เขาจะทำรีวิวกันเพื่อแชร์ประสบการณ์ในไทย
แต่ก็ต้องยอมรับว่า แอปพลิเคชัน หรือบริการที่ทำมาเพื่อคนจีนโดยเฉพาะก็มีอยู่แล้ว และเราพบว่าพวกเขาใช้งานจริงๆ ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำ ถ้าจะนับก็น่าจะตั้งแต่ช่วงท่องเที่ยวไทยบูม รวมถึงช่วงนั้นมีกระแสการย้ายเข้ามาอยู่ในไทยระยะยาวของคนจีน ไม่ว่าจะมาเรียน มาทำงาน มาหาลู่ทางค้าขาย หรือแม้แต่แม่ที่มาอยู่เป็นเพื่อนลูก เพราะพาลูกมาเรียนที่ไทย ซึ่งจะมีคำเฉพาะที่เรียกแม่กลุ่มนี้ว่า "เผยตู๋มามะ"
สำหรับแอปฯ ที่ทำมาเพื่อคนจีนโดยเฉพาะในไทย ที่คนจีนใช้กันเป็นจำนวนมากก็มี 飞象外卖 ที่ออกเสียงว่า เฟยเซี่ยงว่ายม่าย หรือ ช้างบิน และ 悟空外卖 ที่ออกเสียงว่า หงอคงว่ายม่าย หรือ GoKoo โดยสองแอปฯ นี้ ใช้งานง่าย ผูกกับวีแชต หรือ WeChat ที่คนจีนใช้อยู่แล้ว เป็นลักษณะของ Miniapp บนวีแชต
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตคือแอปฯ เหล่านี้ไม่ได้มีแค่การเดลิเวอรี แต่บางแอปฯ เช่น GoKoo มีการขยายบริการในลักษณะที่คนจีนต้องทำในไทย แต่อาจจะมีปัญหาภาษา ทางแอปฯ ก็มีให้บริการโดยเฉพาะ เช่น หมวดสุขภาพ สถานพยาบาล การเช่ารถ การซื้อทัวร์ต่างๆ
สำหรับพฤติกรรมของคนจีนที่ใช้แอปฯ จีนโดยเฉพาะ ก็แน่นอนว่า ต้องการความสะดวกสบาย และแก้ปัญหาอุปสรรคทางด้านภาษา เนื่องจากแอปฯ เหล่านี้เป็นจีนทั้งหมด ทำให้พวกเขาไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเมื่อมาไทย และอาจยิ่งรู้สึกอุ่นใจด้วยที่มี ecosystem แบบนี้รองรับ
ทั้งนี้ ก็เป็นไปในแนวทางที่เราเห็นอยู่บนโลกความเป็นจริงอยู่แล้วว่า ตามย่านท่องเที่ยวที่คนจีนชอบไป ร้านรวงต่างๆ ไม่น้อย ตกแต่งร้าน เขียนชื่อร้าน เขียนข้อความต่างๆ เป็นจีนหมด ถ้าไม่มองไปยังสภาพแวดล้อมอื่นๆ อาจหลงนึกว่าอยู่จีนก็เป็นได้ จุดประสงค์ก็เพื่อดึงดูดให้คนจีนใช้บริการโดยตรง ซึ่งก็เหมือนกับแอปฯ เดลิเวอรีจีนโดยตรงนี้
ปัจจุบันคนจีนที่อยู่ในเมืองไทยก็เริ่มมีการรวมกันเป็นสังคมของคนจีนโดยตรง มีบริการต่างๆ ที่ทำมาเพื่อคนจีนโดยเฉพาะ หลายบริการหลายธุรกิจก็เป็นเชน-สาขา มาจากจีนโดยตรง
นอกเหนือจากแอปฯ เดลิเวอรีแล้ว ตัวแอปฯ ที่ให้ข้อมูลรีวิวร้านอาหาร รีวิวท่องเที่ยว คนจีนจำนวนมากในไทย เขาก็ใช้แอปฯ ของเขา อย่างเช่นแอปฯ ที่ชื่อ "ต้าจ้ง เตี่ยนผิง" หรือ Dazhong Dianping เพราะว่าแอปฯ นั้นมาเปิดบริการ เจาะตลาดในไทยโดยตรง โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ คนจีนและนักท่องเที่ยวจีน
โดยแอปฯ Dazhong Dianping จะไปร่วมกับร้านค้าต่างๆ ในไทย เพื่อจัดทำข้อมูล จัดทำสิทธิพิเศษเพื่อคนจีนโดยเฉพาะ และแอปฯ นี้ยังเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วไปเขียนรีวิวร้านอาหารและอื่นๆ ในไทย ซึ่งก็เน้นเมืองใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การมีแอปพลิเคชันเฉพาะเจาะจงก็สะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการ และอาจเป็นการขยายตลาดให้กับร้านและผู้ประกอบการในไทยเพื่อเจาะกลุ่มคนจีนโดยตรง และก็อาจเป็นการสร้างงานสร้างเม็ดเงินให้กับผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อ คือ ความกังวลของคนไทย เราเคยเจอปัญหาเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญมาแล้ว ซึ่งเราก็คงไม่อยากให้เกิดการสร้าง Ecosystem ลักษณะแบบนั้นในวงการอื่นๆ
"ผมไม่ได้บอกว่า แอปฯ ที่มีอยู่ดีหรือไม่ดี แต่แค่ชี้ถึงประเด็นที่คนไทยอาจจะกังวล เพราะมันเคยมีประเด็นมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญที่เกิดมาจากการสร้าง Ecosystem สภาพแวดล้อมแบบจีนทั้งหมดในทุก Process ประกอบกับก็มีข่าวที่ไม่ใช่เชิงบวกออกมาค่อนข้างเยอะในช่วงนี้ ก็อาจจะเกิดข้อกังวลใจกันก็ได้"
บทความโดย
กมลทิพย์ หิรัญประเสริฐสุข kamonthip.h@thairathonline.co.th