จากเหตุการณ์ล่มสลายของ 3 ธนาคารพาณิชย์ ที่ให้บริการบริษัทคริปโตฯ Silvergate Bank, Silicon Valley Bank และ Signature Bank เนื่องจากลูกค้าแห่ถอนเงินจนขาดสภาพคล่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ฝากเงินในธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ว่าอาจส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกับในปี 2008
จนเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ประกาศมาตรการปกป้องเงินฝากของประชาชนแบบเต็มจำนวน สำหรับผู้ฝากเงินใน Silicon Valley Bank และ Signature Bank รวมถึงมาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารที่ได้รับผลกระทบผ่านการจัดตั้งโครงการ Bank Term Funding Program (BTFP)
ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกร ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงมาตรการที่ทางการสหรัฐฯ ใช้รับมือกับวิกฤติธนาคารล่มสลาย ว่าไม่ถือเป็นการอุ้มธนาคาร โดยมองว่าทั้ง 2 มาตรการเป็นแนวทางรับมือกับปัญหาวิกฤติธนาคารรูปแบบใหม่ของทางการสหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาถึงมาตรการแรก Bank Term Lending Program (BTLP) ซึ่งเป็นมาตรการช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้กับธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแห่ถอนเงินของผู้ฝาก ด้วยการเสนอเงินกู้อายุไม่เกิน 1 ปี จาก FED และใช้หลักทรัพย์คุณภาพสูง อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และ MBS ในการค้ำประกัน และเมื่อครบกำหนดตามอายุสัญญาเงินกู้ ธนาคารจะต้องนำเงินมาคืนให้กับ FED
ศูนย์วิจัยกสิกร มองว่ามาตรการนี้เสมือนเป็นกลไกช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับแบงก์ผ่าน “ช่องทางพิเศษ” ที่นอกเหนือไปจากการขอยืมสภาพคล่องผ่าน Discount Window Lending ด้วยเงื่อนไข 1.วงเงินกู้จากมาตรการ BTLP จะเท่ากับราคาพาร์ หรือมูลค่าหน้าตั๋วของตราสารนั้นๆ ไม่ใช่ราคาตลาด และ 2.ระยะเวลาการกู้ผ่านมาตรการ BTLP จะยาวถึง 1 ปี ซึ่งโดยมากจะมีระยะเวลาประมาณ 90 วัน
สำหรับมาตรการที่สอง เป็นการให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินครอบคลุมเงินฝากเต็มจำนวนในธนาคารที่ “ปิดกิจการไปแล้ว” เพื่อป้องกันปัญหาเศรษฐกิจที้ตามมา โดยใช้เงินจากกองทุนประกันเงินฝาก และเงินจากธนาคารที่ปิดกิจการ ซึ่งครอบคลุมกว่าสถานการณ์ปกติที่มีวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ฯ ต่อบัญชี/ต่อราย/ต่อสถาบันการเงิน
จากเงื่อนไขข้างต้นทำให้ทั้ง 2 มาตรการไม่ถือเป็นการอุ้มธนาคาร (Bailout) เพราะไม่ได้มีการอัดฉีดเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยพยุงกิจการ จึงไม่เป็นภาระโดยตรงต่อประชาชนผู้เสียภาษี (Taxpayer)
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นตามมาจากสถานการณ์ธนาคารล้มในสหรัฐฯ ก็คือการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพราะความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญ หากปัญหาภาคธนาคารลากยาวก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น FED จะต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เพราะหากผิดพลาดไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบ (หรืออาจกลายเป็นวิกฤติ) ในวงกว้างกว่านี้ได้.