เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (12 มี.ค 66) หน่วยงานบริการทางการเงินนิวยอร์ก (NYDFS) ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายธนาคารนิวยอร์กมาตรา 606 ในการสั่งปิดและเข้าครอบครองธุรกิจ Signature Bank โดยแต่งตั้งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา(FDIC) เป็นผู้พิทักษ์ทรัพย์
โดยกระทรวงการคลัง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และ FDIC ออกแถลงการณ์ให้เหตุผลว่า การสั่งปิด Signature Bank ซึ่งเป็นธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อหลักให้กับบริษัทคริปโตนั้น เป็นไปเพื่อปกป้องผู้ฝากเงินและป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบธนาคารสหรัฐฯ ที่ลุกลามจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Silvergate Bank
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น แม้ Signature Bank จะได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของสองธนาคารก่อนหน้าจนลูกค้าแห่ถอนเงินไปมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์
ในวันศุกร์ แต่ก็สามารถบริหารจัดการจนสถานการณ์กลับมาปกติได้ในวันอาทิตย์ก่อนที่จะถูกสั่งปิดและพิทักษ์ทรัพย์โดย FDIC ในวันเดียวกัน
ดังนั้นประเด็นนี้ถึงกลายเป็นที่ถกเถียงถึงความสมเหตุสมผลของการสั่งปิด ที่มีการตั้งข้อสังเกตเกิดขึ้นมากมาย ว่าแท้จริงแล้ว ทางการสหรัฐฯหวั่นกระทบเสถียรภาพ หรือตั้งใจส่งสัญญาณในการปราบปรามคริปโตกันแน่ ?
ย้อนกลับไปเมื่อไตรมาส 4/2565 Signature Bank มีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากมูลค่า 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามรายงานของ NYDFS และไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่องรุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับ Silicon Valley Bank ที่มีสินทรัพย์รวมอยู่ 2.09 แสนล้านดอลลาร์ แต่พอร์ตสินทรัพย์กว่า 50% เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล MBS ทำให้สินทรัพย์ขาดทุนจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ประกอบกับจำนวนเงินฝากของบริษัทสตาร์ทอัพลดลงเนื่องจาก Venture Capital ลดการสนับสนุนเงินทุนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงทำให้ต้องขายสินทรัพย์เพื่อชดเชย ต่อมาลูกค้าจึงพากันถอนเงินออกจนขาดสภาพคล่องและปิดตัวลงในที่สุด
เมื่อพิจารณาสัดส่วนเงินฝากของ Signature Bank พบว่ามีเงินฝากที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพียง 20% หรือ 18 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ในขณะที่ Silvergate Bank ขาดสภาพคล่องเพราะลูกค้าส่วนใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทคริปโตแห่ถอนเงินฝาก
ถึงแม้ Silicon Valley Bank จะเป็นธนาคารที่กุมมูลค่าระบบนิเวศของบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสหรัฐฯ แต่กลับมีมูลค่าสินทรัพย์เพียง 0.91% ของสินทรัพย์ธนาคารสหรัฐฯทั้งหมด ประกอบกับเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้การอ้างเหตุผลของหน่วยงานรัฐเรื่องผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบธนาคารในการปิด Signature Bank กลายเป็นที่ถกเถียงของสาธารณชนว่าอาจจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ Frank Barney หนึ่งในบอร์ดบริหารธนาคาร Signature Bank ที่มองว่าการเข้าควบคุมธนาคารเป็นการส่งสัญญาณต่อต้านคริปโตของหน่วยงานรัฐ เชื่อมโยงกับความพยายามควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลของหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีฟ้องร้องบริษัท Ripple ผู้ออกเหรียญ XRP สั่งปรับกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล Kraken หรือสั่งให้บริษัท Paxos ยกเลิกออก Stablecoin BUSD ให้กับ Binance
การประกาศยุติบริการ Silvergate Exchange Network (SEN) ก่อนการล่มสลายของธนาคาร Silvergate Bank ก็เป็นผลมาจากการออกแถลงการณ์ร่วมระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED), สถาบันประกันเงินฝาก (FDIC) และสำนักงานผู้ควบคุมเงินตราของสหรัฐอเมริกา (OCC) เพื่อเตือนธนาคารถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการกำหนดมาตรฐานการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลของโลก เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศอื่นๆ เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่จึงต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกัน และเป็นที่น่าจับตาต่อไปว่า ประเทศอื่นๆ จะแสดงท่าทีต่อการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไร ตามมาตรฐานอเมริกัน