นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะที่พัฒนาโดย OpenAI ทีมวิจัยระดับโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ ที่ Microsoft ทุ่มเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในการร่วมงานกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ประกาศศักดาในการนำพา Bing สู้ศึกเสิร์ชเอนจิ้นอีกครั้ง หลังจากที่ Google เป็นเจ้าตลาดที่ส่วนแบ่งก้อนเค้กนี้กว่า 92% ซึ่งเป็นระดับที่เรียกได้ว่ากินขาดมาเป็นเวลานาน ขณะที่ Bing ของ Microsoft ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 3.42% เท่านั้น (ข้อมูลเมื่อปี 2565)
การเปิดตัว Bing ในเวอร์ชันใหม่ ที่มาพร้อมกับความฟีเวอร์ของ ChatGPT ทำให้ Microsoft ได้รับการพูดถึงในหน้าสื่อในฐานะคู่แข่งคนสำคัญที่อาจดิสรัปธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้นของ Google ได้อีกครั้ง แต่จริงๆ แล้ว หากมองลึกลงไปกว่านั้น แน่นอน Microsoft ไม่ได้มองเพียงแค่จุดเดียว แต่กลับเป็นการต่อสู้ทั้งระบบนิเวศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจคลาวด์ ที่ต่อไปไม่ใช่แค่ Google แต่อาจจะต้องพูดถึง Amazon ที่มี Amazon Web Service (AWS) ที่เป็นเจ้าตลาดคลาวด์อยู่ก่อนด้วย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? Thairath Money จะพาไปพิจารณาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ก่อนหน้านี้ Microsoft ประเทศไทย ได้มีการเปิดบ้านให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโซลูชันต่างๆ พร้อมพูดคุยกับทีมผู้บริหาร โดย นายสรุจ ทิพย์เสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชันองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้อธิบายถึงความสามารถของเทคโนโลยี Genetive AI ให้เราเข้าใจถึงเบื้องหลังความฉลาดของเจ้า ChatGPT ซึ่งมี GPT-3 Model โมเดลภาษาคอยขับเคลื่อนความสามารถในการสร้างสรรค์ข้อความ ประมวลข้อมูลพร้อมหาข้อสรุป แถมตอบโต้กับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนคุยกับคน ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า นี่ถือเป็นอีกก้าวของมนุษยชาติในการมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีเลยทีเดียว
หลังจากประกาศเปิดตัว Bing บริการค้นหาข้อมูลที่ผสานความสามารถของ ChatGPT ชิงพื้นที่สื่อจาก ‘Bard’ AI-Chatbot ค่าย Google ที่เปิดตัวก่อนหน้าไม่กี่วัน ความจริงแล้ว Microsoft ไม่ได้เปิดตัวแค่เพียง Bing ฉบับ AI เท่านั้น แต่ยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกผสมผสานคลังความสามารถของ OpenAI อีกเป็นขบวน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 Microsoft และ OpenAI เป็นพันธมิตรที่ทำงานกันอย่างใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน โดย Microsoft เป็นผู้พัฒนาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อฝึกสอน AI ให้กับ OpenAI แถมช่วยนำผลิตภัณฑ์ของ OpenAI ออกสู่ตลาด (go to market)
อีกทั้ง Mictosoft ยังนำโมเดล AI มาใช้กับผลิตภัณฑ์ตัวเองระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ เช่น GitHub Copilot ช่วยนักพัฒนาเขียนโค้ด Power BI & Power Apps ช่วยเขียนสูตรสำหรับจัดการข้อมูล Viva Sales & Outlook ช่วยจัดการข้อมูลการขายและข้อมูลลูกค้า Team Premium ช่วยรับบทเลขาฯ สรุปการประชุมพร้อมแปลภาษาอัตโนมัติ หรือล่าสุดอย่าง Bing และ Microsoft Edge ที่เพิ่มฟีเจอร์ AI เสมือนเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะบนเบราวเซอร์
หากมองภาพกว้าง Microsoft ไม่ได้หวังเพียงแย่งชิงสัดส่วนในตลาดบริการค้นหาข้อมูลจากเบอร์หนึ่งอย่าง Google แต่กำลังสร้างอาวุธใหม่ที่ครอบคลุมการให้บริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ การลงทุนในบริษัท OpenAI เป็นเหมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หรืออาจมากกว่านั้น
นอกจากการนำเสนอถึงความฉลาดของ ChatGPT แล้ว อีกสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญของการเปิดบ้านในครั้งนี้ คือ Azure OpenAI Service บริการที่เอื้อให้ธุรกิจสร้าง AI Application ที่มีโมเดลทันสมัยและเชื่อถือได้
เดิมที Microsoft Azure เป็นบริการคลาวด์สาธารณะที่มีความสามารถรองรับการประมวลชุดข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ระดับองค์กร ซี่งได้รับความไว้วางใจจากบริษัททั่วโลก รวมถึง OpenAI เองก็ตาม
ก่อนอื่นต้องอธิบายแบบนี้ว่า OpenAI ไม่ได้มีแค่โมเดล GPT ที่เอามาแปลงร่างเป็น ChatGPT ขวัญใจชาวเน็ตเท่านั้น แต่ยังมีโมเดลอื่นๆ อีกรวมทั้งหมด 3 โมเดลด้วยกัน ที่ Microsoft นำมาใช้ใน Azure OpenAI ได้แก่
ดังนั้น Azure OpenAI ครอบคลุมการทำงานตั้งแต่คลาวด์ ตลอดจน API และ Service รูปแบบต่างๆ ภายในระบบนิเวศ Microsoft ด้วยศักยภาพของ Generative AI จะเข้ามา ช่วยกระบวนการทำงานด้านข้อมูลทุกรูปแบบในองค์กรตั้งแต่การจัดการ-ประมวล-วิเคราะห์–นำไปใช้ นักพัฒนาสร้างแอปฯ ได้มีประสิทธิภาพขึ้น
ธุรกิจในไทย กลุ่มแรกที่สนใจส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ผ่านการทำ Digital Transformation มาแล้ว หรือมีการใช้ AI อยู่แล้ว จึงต้องการใช้ Generative AI เสริมการทำงานมากขึ้น โดยธุรกิจแรกๆ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ กลุ่มโรงงาน-สายการผลิต และกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมถึงสตาร์ทอัพ
โดย นายสรุจ กล่าวว่า “AI คือ Game Changer ของเมืองไทย” โดยเป้าหมายของ Microsoft และ OpenAI ต้องการสร้าง Mass Adoption ให้องค์กรทั่วไปเข้าถึงกาารใช้งาน Generative AI อยากให้คนไทยรู้จักเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้เสริมการทำงาน"
"และที่สำคัญ AI ไม่ได้มาแย่งงาน แต่ช่วยเพิ่มผลิตภาพให้คนทำงานได้มากขึ้นโดยใช้แรงเท่าเดิม ขอเน้นย้ำว่า มนุษย์ คือ ผู้ควบคุมชุดคำสั่งและฝึกฝน AI ทักษะสำคัญที่เราควรมี คือ Prompt และ Edit หมายถึงการป้อนคำถามหรือคำสั่งให้ AI ทำงาน โดยหลังจากนั้น เรามีหน้าที่ตรวจสอบและปรับปรุงต่อยอดข้อมูลนั้นต่อ โดยองค์กรที่ไม่มีแผนนำ AI ไปใช้ จะเสียเปรียบองค์กรที่ใช้”
นายสรุจ กล่าวถึง 'ธุรกิจคลาวด์' ว่า “การขยายระบบเพื่อรองรับศักยภาพของ AI นั้นมีส่วนเร่งการเติบโตของธุรกิจคลาวด์เป็นที่แน่นอน อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดหรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจ”
จากที่อธิบายมาตั้งแต่ตอนแรก หลายคนอาจจะพอเห็นภาพกว้างๆ ได้แล้วว่า การรุกหนักในด้าน AI ของ Microsoft จริงๆ แล้วไม่ได้ต้องการแค่ไปเขย่าธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้นที่มี Google เป็นเจ้าตลาดอยู่เท่านั้น แต่เป็นการผลักดันธุรกิจคลาวด์ให้เติบโตไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่า จะได้รับอานิสงส์จากการยกระดับความสามารถการให้บริการของ Microsoft เพราะกระบวนการประมวลข้อมูลมหาศาลนั้นตามมาด้วยการอัปเกรดคลังข้อมูล (Database) มหาศาล และแน่นอนว่าการนำเสนอบริการที่เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรนั้นสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้อย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา Microsoft ประกาศผลประกอบการของปี 2565 จะพบว่าจะมาจากธุรกิจคลาวด์เป็นสัดส่วนกว่า 51.4% ของรายได้ทั้งหมด เติบโตขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และที่มากไปกว่านั้นปีที่ผ่านมา Microsoft ขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายแรกที่มีรายได้สูงสุดกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นยอดขายที่สามารถแซงหน้าอันดับหนึ่งอย่าง Amazon Web Service (AWS) ได้
แต่ถ้ามองในแง่ของส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการคลาวด์ Microsoft ยังรั้งอันดับสองอยู่ด้วยสัดส่วน 23% แต่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 21% นั่นหมายความว่า ใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการเพิ่มส่วนแบ่งขึ้นอีก 2%
ขณะที่ AWS เองยังคงเป็นอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนตลาดที่ลดลงจาก 34% เป็น 33% และ Google 11% ที่อันดับสาม รวมถึงอันดับอื่นๆ ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว สะท้อนภาพรวมธุรกิจคลาวด์ที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด (อ้างอิงข้อมูลจาก Synergy Research Group ณ วันที่ 6 ก.พ. 66)
จากข้อมูลที่ได้หยิบยกมาอธิบายประกอบนั้น มาถึงตรงนี้แลวจะเห็นถึงสัญญาณบางอย่าง โดยการนำโมเดล AI ของ OpenAI มาเสริมแกร่งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้คนหันกลับมาสนใจใช้ Bing มากขึ้น แต่ยังทำให้ Microsoft ชิงการใช้งานจากธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย ได้แก่ คลาวด์และโซลูชันของบริษัท เรียกได้ว่า กดดันคู่แข่งอย่าง AWS และ Google ให้รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า การหว่านผลผลิต AI เป็นเวลาทศวรรษนั้น จะออกดอกออกผลอย่างไร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ออกมาได้ถูกจับตามอง อย่าง บริการ Azure OpenAI เสิร์ชเอนจิ้น Bing และเบราวเซอร์ Edge จะสามารถดึงดูดผู้ใช้งานและพลิกให้ Microsoft เป็นผู้นำตลาดได้หรือไม่ ถือเป็นเกมใหญ่ของของ Microsoft ที่ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์กันต่อไป