ส่งออกสินค้าเกษตรไทยหดตัวครั้งแรกรอบ 2 ปี หวั่นปีนี้ติดลบต่อ เหตุเงินเฟ้อสูงเศรษฐกิจโลกชะลอหนัก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่งออกสินค้าเกษตรไทยหดตัวครั้งแรกรอบ 2 ปี หวั่นปีนี้ติดลบต่อ เหตุเงินเฟ้อสูงเศรษฐกิจโลกชะลอหนัก

Date Time: 3 ก.พ. 2566 16:06 น.

Video

เจาะวิธีทำเงินของ Yahoo ยักษ์ที่ยอมเป็นเงา เพื่อเอาตัวรอด | Digital Frontiers

Latest


ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในไตรมาส 4 ปี 2565 หดตัวที่ 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน การส่งออกหดตัวในทุกตลาดสำคัญ โดยตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดคิดเป็น 29% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัวจากปีก่อน 5.7% เนื่องจากมาตรการ Zero-COVID ของจีนที่เข้มงวด ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในจีนชะลอตัวลง เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมดหดตัวถึง 19.3% เนื่องจากความกังวลในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะชะลอลง

หมวดสินค้าเกษตรหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยไตรมาสที่ 4 หดตัว 7.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัวแรง ได้แก่ ยางพารา หดตัวถึง 36.9% ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่ และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง

ด้านหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีการหดตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2564 โดยไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมาหดตัว 4.0% ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย สิ่งปรุงรสอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในกลุ่มสินค้าสำคัญการส่งออกข้าวไตรมาส 4 พลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ 2.2% จากปีก่อนโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีมูลค่าการส่งออกหดตัว 13.8% จากปริมาณการส่งออกที่หดตัวถึง 24.5% จากปีก่อน เนื่องจากคู่ค้ามีการเร่งนำเข้าไปตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จากความกังวลในสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน

แต่โดยรวมทั้งปีมูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิยังขยายตัวจากปีก่อน 7.8% และ 8.7% ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการส่งออกข้าวขาวในไตรมาส 4 ยังคงขยายตัว 6.2% จากปัจจัยด้านปริมาณที่ขยายตัว 6.3% เนื่องจากราคาส่งออกข้าวขาวที่ยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียได้มากขึ้น อีกทั้งมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและจีน จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร หลังจากในช่วงที่ผ่านมาเกิดภัยธรรมชาติขึ้นในหลายประเทศและส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ทำให้ไทยสามารถขยายตลาดสู่ตลาดตะวันออกกลางได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอิรัก

ขณะที่ การส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งในไตรมาส 4 พลิกกลับมาขยายตัว หลังการยกเลิกมาตรการ Zero-COVID เพิ่มขึ้น 3.1% นำโดยการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักที่ขยายตัว 10.2% ส่วนการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปไตรมาส 4 ขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการในตลาดส่งออกหลักที่เพิ่มขึ้น ในไตรมาส 4 ของปี 2565 ขยายตัว 18.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะไก่แปรรูปขยายตัว 13.0%

ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2566-2567 ประเมินว่า ทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรจะยังขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยปัจจัยท้าทายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และต้นทุนดำเนินงานที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าการส่งออกของตลาดข้าวยังคงฟื้นตัว โดยเฉพาะปริมาณการส่งออก โดยในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 7.7 ล้านตัน และในปี 2567 อยู่ที่ 8 ล้านตัน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สิ่งสำคัญคือต้องแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม และอินเดีย

ขณะที่ยางพาราคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2566 จะอยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท ลดลง 13% และ ปี 2567 จะอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท ลดลง 6% โดยเป็นผลจากราคาส่งออกที่ลดลง แต่ในเชิงปริมาณยังขยายตัวได้ดี โดยเป็นผลจากผลผลิตยางพาราโลกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการใช้ ส่วนการส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูป คาดว่าในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.01 ล้านตัน ขยายตัว 3.1% จากปีก่อน เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังสภาพยุโรปที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีจากสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ที่ยืดเยื้อ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ