ในปีที่ผ่านมาบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกต่างพากันเลย์ออฟพนักงานมากกว่าแสนตำแหน่ง ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ศึกยังไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะในปี 2023 นี้ตั้งแต่เปิดต้นปีมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างพากันประกาศปลดพนักงานกันอีกระลอกใหญ่ ซึ่งมกราคมเพียงเดือนเดียวก็เลย์ออฟไปแล้วมากกว่า 50,000 คน
Amazon
ปลดพนักงาน 18,000 คน หรือประมาณ 1.1% ของพนักงานทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 1.6 ล้านคน แผนกที่ได้รับผลกระทบคือ Amazon Stores and People, Experience, Technology (PXT) เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจทำให้บริษัทเผชิญกับการเติบโตของยอดขายที่ชะลอตัว และมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงานที่มากเกินไปในช่วงโควิด การลดค่าใช้จ่ายจะช่วยให้บริษัทสามารถหาโอกาสลงทุนในระยะยาวด้วยโครงสร้างต้นทุนที่แข็งแกร่งขึ้น
Alphabet
บริษัทแม่ของ Google ปลดพนักงาน 12,000 คน คิดเป็น 6% ของพนักงานทั้งหมด เป็นผลมาจากการจ้างงานที่มากเกินในช่วงโควิด และงบการเงินในไตรมาสที่ 3 ทั้งรายรับและกำไรต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การเติบโตของรายได้โดยรวมชะลอตัวลงเหลือ 6% ในไตรมาสที่ 4 แต่ Google Cloud เติบโตขึ้น 38% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็น 6.9 พันล้านดอลลาร์
Microsoft
ปลดพนักงาน 10,000 คน คิดเป็น 5% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรเน้นการลงทุนในโปรเจ็กต์ AI ที่บริษัทมองว่าจะสร้างการเติบโตในระยะยาว
หลังจากในไตรมาสแรกของปี 2023 บริษัททำรายได้เติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี สาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้สุทธิลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
Salesforce
ปลดพนักงาน 8,000 คน คิดเป็น 10% ของพนักงานทั้งหมด เนื่องจากการจ้างงานที่มากเกินในช่วงโควิดระบาด ซึ่งรายได้ของบริษัทปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องยื่นปรับโครงสร้างองค์กรต่อตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) โดยค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023
IBM
ปลดพนักงาน 3,900 คน คิดเป็น 1.5% ของพนักงานทั้งหมด เป็นผลมาจากการแตกธุรกิจบริการเทคโนโลยี Kyndryl ออกมาจากธุรกิจหลัก และยอดขายจากธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ
PayPal
ปลดพนักงาน 2,000 คน คิดเป็น 7% มีสาเหตุมาจากความกดดันทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแย่ลง บริษัทได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่มากเกินไปในช่วงโควิด เพื่อตอบสนองปริมาณการชำระเงินบนแพลตฟอร์มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของลูกค้า เมื่อปริมาณการชำระเงินของลูกค้าชะลอตัวลง เพราะคนกลับไปช็อปปิ้งที่หน้าร้านมากขึ้น ส่งผลให้หุ้นของ PayPal ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังมีเมื่อช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ที่ถือเป็นอีกฤดูกาลของการเลย์ออฟพนักงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่หลายบริษัทต่างมีการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ออกมา ที่ต่ำกว่าคาด สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการต้องพากันเอาตัวรอดท่ามกลางความกดดันจากปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาค โดย Meta ได้ปลดพนักงาน 11,000 คน คิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด เป็นผลมาจากการที่บริษัททุ่มเงินลงทุนสูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์ในการพัฒนา metaverse ในปี 2565 ซึ่งยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสที่สามเป็น 22.1 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลง 46% จากปีก่อนหน้าเหลือ 5.66 พันล้านดอลลาร์ สำหรับแผนในอนาคต Meta จะเน้นการลงทุนในหน่วยธุรกิจที่มีความสำคัญและสร้างการเติบโต
ขณะที่ Cisco ก็ได้มีการปลดพนักงาน 4,100 คน คิดเป็น 5% ของพนักงานทั้งหมด เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้สมดุล ลดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยธุรกิจ จัดสรรสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพสูง และลงทุนเพิ่มเติมในหน่วยธุรกิจที่มีความสำคัญ ซึ่งสวนทางกับการทำรายได้ประจำไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ด้าน Twitter ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักนับตั้งแต่มี CEO ใหม่อย่าง Elon Musk เข้ามาบริหาร และได้มีการปลดพนักงาน 3,700 คน คิดเป็น 50% ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นในหลายแผนก เช่น แผนกดูแลจริยธรรม AI, แผนกการสื่อสารนโยบาย หรือแม้ทีมวิศวกรรมที่ทำหน้าที่หลักในการดูและระบบทั้งหมดของทวิตเตอร์ เพื่อลดต้นทุนและปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงหาโมเดลธุรกิจสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่น การเก็บค่าสมาชิก Twitter blue
อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้หลายยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีปลดพนักงานที่นอกเหนือจากความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ยังมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อหารายได้จากช่องทางอื่น หรือการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแทนมนุษย์ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่น่าจับตา การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีที่นำการเคลื่อนไหวให้กับอีกหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกต่างปรับตัวตาม